กระดูกค่าง | น. ชื่อไม้ต้นชนิด Diospyros undulata Wall. ex G. Don var. cratericalyx (Craib) Bakh. ในวงศ์ Ebenaceae ขึ้นในป่าดิบ มีมากทางภาคใต้ สูงได้ถึง ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ, จะเพลิง ชะเพลิง คำดีควาย ดูกค่าง ตะโกดำ พลับเขา ไหม้ หม้าย หรือ สะลาง ก็เรียก. |
กระอาน | น. ชื่อเต่านํ้ากร่อยขนาดใหญ่ชนิด Batagur baska (Gray) ในวงศ์ Emydidae จมูกแหลมงอนคล้ายตะพาบ เมื่อยังเล็กกระดองค่อนข้างแบน เมื่อโตขึ้นกระดองโค้งรี เพศเมียหัวและกระดองสีน้ำตาล เพศผู้หัวและกระดองสีดำตาสีขาว ตีนมีพังผืดเต็ม สามารถปรับตัวอยู่ในนํ้าจืดได้ พบในบริเวณที่มีน้ำไหลทางภาคใต้โดยเฉพาะแถบจังหวัดสตูล, กะอาน ก็เรียก. |
กอและ ๑ | น. ชื่อเรือประมงชนิดเรือต่อ ใช้ตามชายทะเลฝั่งตะวันออกทางภาคใต้ตอนล่าง รูปร่างยาวเพรียว หัวและท้ายเรือแหลมสูง ใช้ใบขับเคลื่อนรับลม เขียนลวดลายสีสันต่าง ๆ ไว้อย่างสวยงาม. |
กะลุมพี | น. ชื่อปาล์มชนิด Eleiodoxa conferta (Griff.) Burret. ในวงศ์ Palmae ขึ้นเป็นกอในป่าพรุและที่ชื้นแฉะทางภาคใต้ ผลเป็นช่อใหญ่และแน่น ปลายผลตัด ผิวเหลืองเกลี้ยงเป็นมัน ไม่มีหนาม เยื่อหุ้มเมล็ดขาว รสเปรี้ยว ๆ ฝาด ๆ กินได้ ยางในลำต้นเหนียวใช้ติดกระดาษแทนกาวได้, ลุมพี ก็เรียก, ปักษ์ใต้เรียก หลุมพี. |
คฤนถ์ | (คฺรึน) น. ตัวอักษรแบบหนึ่งของอินเดียภาคใต้ที่ใช้เขียนตำรา. |
เคี่ยม ๑ | น. ชื่อไม้ต้นขนาดใหญ่ชนิด Cotylelobium lanceolatumCraib ในวงศ์ Dipterocarpaceae มีมากในป่าดิบทางภาคใต้ ต้นสูงตรง เป็นไม้ที่ทนทาน. |
เคี่ยมคะนอง | น. ชื่อไม้ต้นขนาดใหญ่ชนิด Shorea henryana Pierre ในวงศ์ Dipterocarpaceae ลำต้นสูงตรงมาก มีมากตามป่าดิบทางภาคตะวันออกและภาคใต้. |
จิ้งเหลนด้วง ๑ | น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจิ้งเหลนที่ไม่มีขาหรืออาจมีร่องรอยของขาคู่หลังเหลืออยู่เล็กน้อย ในวงศ์ Dibamidae และวงศ์ Scincidae ลำตัวเรียวยาว ขนาดยาวตั้งแต่ ๗-๒๕ เซนติเมตร เกล็ดลำตัวเรียบ อาศัยอยู่ใต้ผิวดินที่ร่วนซุยหรือเป็นดินปนทรายซึ่งมีซากผุพังของพืชปกคลุม, ในวงศ์ Dibamidae เฉพาะเพศผู้มีร่องรอยของขาคู่หลังเป็นแผ่นแบนให้เห็นเล็กน้อย ที่พบในประเทศไทย ได้แก่ จิ้งเหลนด้วงสีม่วง ( Dibamus alfrediTaylor) ซึ่งพบทางภาคใต้ และจิ้งเหลนด้วงสมศักดิ์ ( D. somsakiHonda, Nabhitabhata, Ota & Hikida) ซึ่งพบที่เขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ส่วนในวงศ์ Scincidae ไม่มีขาทั้งเพศผู้และเพศเมีย ที่พบในประเทศไทย ได้แก่ ชนิด Isopachys anguinoides (Boulenger) พบที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ชนิด I. roulei (Angel) พบที่จังหวัดชลบุรี, ชนิด I. gydenstolpeiLönnberg และ I. borealisLang & Bohme พบทางภาคตะวันตก ชนิด Davewakeum miriamaeHeyer พบที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. |
ฉก ๒ | น. ชื่อปาล์มชนิด Arenga westerhoutiiGriff. ในวงศ์ Palmae ขึ้นตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ใบด้านล่างเป็นคราบสีเทา ไม่ใคร่หักหรือพับ จั่นเป็นพวงห้อย ออกผลเป็นทะลายใหญ่, รังกับ รังไก่ หรือ หลังกับ ก็เรียก. |
ชนหิน | น. ชื่อนกเงือกขนาดใหญ่ชนิด Rhinoplax vigil (Forster) ในวงศ์ Bucerotidae ปากใหญ่สีเหลือง บนส่วนท้ายของขากรรไกรบนมีโหนกแข็งสีแดง ส่วนด้านหน้าตัน คอสีน้ำตาลแดง ลำตัวและปีกสีดำ ขอบปีกสีขาว หางสีขาวมีคาดสีดำ ขนหางตอนกลางยื่นยาวเป็นคู่ออกไปมีสีขาวตอนปลายคาดดำ พบทางภาคใต้. |
ชักพระ | น. ชื่อประเพณีอย่างหนึ่งทางภาคใต้ ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญ นิยมมีในวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กลับจากโปรดพระพุทธมารดา คล้ายวันตักบาตรเทโวของภาคกลาง, การชักพระมี ๒ อย่าง คือ ชักพระทางบกกับทางน้ำ, ถ้าชักพระทางบก ก็อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานไว้บนบุษบกซึ่งตั้งอยู่บนยานพาหนะแล้วช่วยกันชักลากไป, ถ้าชักพระทางน้ำ ก็อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบกในเรือ แล้วใช้เชือกผูกเรือพระช่วยกันลากไปยังสถานที่ที่กำหนด แล้วจึงถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ มักจะมีการโยนข้าวต้มรูปสามเหลี่ยมห่อด้วยใบกะพ้อเป็นต้นใส่กัน บางทีก็มีแข่งเรือและอื่น ๆ ด้วย. |
ชาปีไหน | น. ชื่อนกขนาดกลางชนิด Caloenas nicobarica Linn. ในวงศ์ Columbidae ลำตัวสีเขียวเหลือบเทา มีสร้อยคอสีเขียวเห็นได้ชัด ขนหางสีขาว มักเกาะตามกิ่งไม้หนาทึบ หากินตามพื้นดิน กินเมล็ดพืช พบตามหมู่เกาะทางภาคใต้ของประเทศไทย แต่มีชุกชุมทางด้านทะเลอันดามัน, กะดง ก็เรียก. |
ตะโขง | น. ชื่อจระเข้ชนิด Tomistoma schlegelii Müller ในวงศ์ Crocodylidae ขนาดใหญ่กว่าจระเข้ทั่วไป ปากเล็กเรียวยาวคล้ายปากปลากระทุงเหวแต่งอนขึ้นด้านบนเล็กน้อย ตัวสีนํ้าตาลแดงมีลายสีนํ้าตาลเข้ม หางแบนใหญ่ใช้ว่ายนํ้า อาศัยตามป่าเลนชายนํ้ากร่อย ในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น, จระเข้ปากกระทุงเหว ก็เรียก. |
ตะพัด ๒ | น. ชื่อปลานํ้าจืดชนิด Scleropages formosus (Müller & Schlegel) ในวงศ์ Osteoglossidae เป็นปลาโบราณที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ลำตัวยาว แบนข้างตลอด แนวด้านข้างของสันหลังตรงโดยตลอด แนวสันท้องโค้ง ปากเชิดขึ้น ครีบหลังและครีบก้นอยู่ใกล้ครีบหางมาก ขอบหางกลม เกล็ดใหญ่ เส้นข้างตัวอยู่ใกล้แนวสันท้อง พื้นลำตัวเป็นสีเงินอมเทาหรือสีฟ้า พบเฉพาะบริเวณแหล่งนํ้าเขตภูเขาในจังหวัดตราดและจันทบุรี รวมทั้งบางจังหวัดในเขตภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี ขนาดยาวได้ถึง ๙๐ เซนติเมตร, มังกร ก็เรียก. |
ตุ๊ดตู่ ๓ | น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานชนิด Varanus dumerilii (Schlegel) ในวงศ์ Varanidae ลำตัวยาวสีนวลมีลายสีน้ำตาลเข้ม หัวสีน้ำตาล เมื่อยังเล็กหัวสีแดง ลำตัวสีดำสนิท อาศัยตามซอกหิน พบทางภาคใต้ของประเทศไทย. |
ตูหนา | น. ชื่อปลาไหลนํ้าจืดชนิด Anguilla bicolor (Richardson) ในวงศ์ Anguillidae ที่ว่ายลงทะเลเพื่อขยายพันธุ์ ลำตัวกลมยาว แบนข้างทางท่อนหาง มีครีบอก เกล็ดเล็กฝังแน่นอยู่ในหนัง ลำตัวและครีบสีนํ้าตาลหรือเกือบดำเสมอกัน พบทางเขตภาคใต้ด้านทะเลอันดามัน ขนาดยาวได้ถึง ๑.๕ เมตร. |
เต่าหก | น. ชื่อเต่าบกขนาดใหญ่ชนิด Manouria emys (Schlegel & Müller) ในวงศ์ Testudinidae ขาไม่ปรากฏนิ้วให้เห็น ขาหลังมีลักษณะคล้ายขาช้าง ระหว่างโคนขาหลังกับโคนหางทั้งสองข้างมีเดือยแหลมขนาดต่าง ๆ ลักษณะคล้ายเล็บยื่นออกมาจากผิวหนัง ทำให้เข้าใจผิดว่าเต่าชนิดนี้มี ๖ ขา กินพืชและผลไม้ป่า เช่น กล้วยป่า บอน หน่อไผ่ มักพบอาศัยอยู่ตามที่ที่มีความชื้นสูงตามป่าเขาสูงที่เป็นป่าดงดิบ จัดเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย ตัวเต็มวัย หนักได้ถึง ๓๗ กิโลกรัม ในประเทศไทยพบ ๒ ชนิดย่อย ได้แก่ เต่าหกเหลือง [ M. e. emys (Schlegel & Müller) ] กระดองสีน้ำตาลอมเหลือง พบเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง และเต่าหกดำ [ M. e. phayrei (Blyth) ] กระดองสีดำ พบเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้. |
ทวาย ๑ | (ทะ-) น. ชื่อเมืองทางภาคใต้ของประเทศพม่า, เรียกชาวเมืองนั้น ว่า ชาวทวาย. |
ทองแดง ๓ | น. สำเนียงของคนภาคใต้ที่พูดภาษากลางเพี้ยนไปจากสำเนียงมาตรฐาน. |
โนรา ๒ | น. ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี, มโนราห์ ก็ว่า. |
บึ้ง ๑ | น. ชื่อแมงมุมขนาดใหญ่หลายชนิด หลายสกุล ในวงศ์ Theraphosidae ลำตัวยาวมากกว่า ๓ เซนติเมตรขึ้นไป สีดำหรือน้ำตาลแก่ ไม่ชักใยดักสัตว์ มีขนดกหนาสีเดียวกัน ขุดรูอยู่ตามพื้นดิน คอยจับสัตว์เล็ก ๆ กิน ชนิดที่พบบ่อยและนิยมนำมารับประทาน เช่น ชนิด Haplopelma albostriatum (Simon) พบมากที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ชนิด H. minax (Thorell) พบมากที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้, ก่ำบึ้ง หรือ อีบึ้ง ก็เรียก. |
ปล้องทอง | น. ชื่องูขนาดกลางชนิด Boiga dendrophila (Boie) ในวงศ์ Colubridae ตัวโต ยาวประมาณ ๑.๗ เมตร สีดำตลอดตัวมีลายสีเหลืองพาดขวางเป็นปล้อง ๆ อาศัยตามป่าโกงกางทางภาคใต้ของประเทศไทย หากินตามพื้นดินและบนต้นไม้ กินนก หนู ตุ๊กแก มีพิษอ่อน. |
ปากเป็ด ๒ | น. ชื่องูหลามชนิด Python curtus Schlegel ในวงศ์ Pythonidae ตัวอ้วนสั้นสีแดงหรือส้ม มีลายดำ เหลือง และเทา อาศัยตามโพรงไม้โพรงดินริมน้ำหรือฝังตัวในโคลนใต้วัชพืชริมฝั่งน้ำ ตามปรกติไม่ขึ้นต้นไม้ หากินตามพื้นดิน โดยการเฝ้ารอเหยื่อ กินหนู นกน้ำ พบทางภาคใต้ของประเทศไทยและมาเลเซีย ไม่มีพิษ. |
พริก ๓ | (พฺริก) น. ชื่องูพิษขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ในสกุล Maticora วงศ์ Elapidae ลำตัวเรียวยาว ตากลมเล็กสีดำ มีเส้นสีขาวพาดตามความยาวลำตัว มักพบซ่อนตัวอยู่ใต้ก้อนหินหรือขอนไม้ กินงู กิ้งก่า กบ เขียด ในประเทศไทยพบ ๒ ชนิด คือ พริกท้องแดง [ M. bivirgata (Boie) ] ตัวสีน้ำเงินเข้ม หัว ท้อง และหางสีแดงสด ยาวประมาณ ๑.๔ เมตร และพริกสีนํ้าตาล [ M. intestinalis (Laurenti) ] ตัวสีน้ำตาล หัวสีน้ำตาลส้ม ท้องมีลายเป็นปล้องสีดำสลับขาว ใต้หางมีสีแดงเรื่อ ๆ ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ทั้ง ๒ ชนิดพบทางภาคใต้ของประเทศไทย. |
พังกา ๒ | น. ชื่องูพิษขนาดเล็กชนิด Trimeresurus purpureomaculatus (Gray) ในวงศ์ Viperidae ยาวประมาณ ๑ เมตร ตัวสีเขียวอมเหลือง มีรอยแต้มสีม่วงเข้มตลอดทั้งตัว อาศัยตามป่าโกงกาง มักพบอยู่ตามต้นไม้เตี้ย ๆ กินกบ เขียด กิ่งก่า พบทางภาคใต้ของประเทศไทย มีพิษรุนแรง. |
ภาค, ภาค- | (พาก, พากคะ-) น. ส่วน เช่น ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ, ฝ่าย เช่น ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคเหนือ ภาคใต้, บั้น, ตอน, เช่น หนังสือภูมิศาสตร์ภาคต้น หนังสือประวัติศาสตร์ภาคปลาย พงศาวดารภาค ๑, คราว เช่น การศึกษาภาคฤดูร้อน, ส่วนของประเทศที่แบ่งออกเป็นส่วนย่อยเพื่อสะดวกในด้านการปกครอง การศึกษา การทหาร เป็นต้น เช่น เจ้าคณะภาค แม่ทัพภาค. |
มโนราห์ | น. ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี, โนรา ก็ว่า, เขียนว่า มโนห์รา ก็มี. |
มะมุด | น. ชื่อไม้ต้นชนิด Mangifera foetida Lour. ในวงศ์ Anacardiaceae มีในภาคใต้ ต้นและใบคล้ายมะม่วง แต่ช่อดอกสีแดง ผลดิบรสเปรี้ยวจัด สุกรสหวานอมเปรี้ยว, มุด ก็เรียก. |
เมาะ ๓ | น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Alocasia odora (Roxb.) K. Koch ในวงศ์ Araceae ลำต้นอวบ ใบใหญ่ ก้านใบกินได้ มีมากทางภาคใต้. |
รองเง็ง | น. ศิลปะการแสดงแบบหนึ่งของชาวไทยมุสลิมภาคใต้ เป็นการเต้นรำคู่ชายหญิง และร้องเพลงคลอไปด้วย. |
เรือกอและ | น. เรือประมงตามชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ รูปร่างยาวเพรียว หัวและท้ายเรือแหลมสูง เขียนลวดลายสีสันต่าง ๆ ไว้อย่างสวยงาม. |
ละครชาตรี | น. ละครต้นแบบของละครรำ เดิมเล่นกันเป็นพื้นบ้านทั่วไปในภาคใต้ มีทำนองเพลงร้องเป็นการเฉพาะ ใช้ตัวละครน้อย เดิมเป็นชายล้วน ตัวนายโรงจะแต่งตัวยืนเครื่องเสมอ ตัวละครที่ไม่สำคัญไม่แต่งตัวยืนเครื่อง กระบวนรำไม่สู้ประณีตนัก. |
สะตอ | น. ชื่อไม้ต้นชนิด Parkia speciosaHassk. ในวงศ์ Leguminosae ฝักแบน เมล็ดกินได้ มีมากทางภาคใต้. |
หม้อแกงลิง | น. ชื่อไม้เถาชนิด Nepenthes ampullaria Jack ในวงศ์ Nepenthaceae ชอบขึ้นในป่าพรุทางภาคใต้ ปลายใบเปลี่ยนเป็นรูปกระเปาะป้อมมีฝาปิด ใช้ดักแมลง, หม้อแกงค่าง ก็เรียก. |
หลุมพอ | น. ชื่อไม้ต้นขนาดใหญ่ชนิด Intsia palembanicaMiq. ในวงศ์ Leguminosae ขึ้นตามป่าดิบทางภาคใต้ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง, กะลำพอ หรือ ตะลุมพอ ก็เรียก. |