กรอ ๕ | ก. บรรเลงดนตรีประเภทเครื่องตีดำเนินทำนอง ที่ทำให้เกิดเสียงต่อเนื่องกันเป็นเสียงยาวสม่ำเสมอ โดยใช้ ๒ มือตีสลับกันถี่ ๆ ด้วยน้ำหนักมือที่เท่ากัน. |
กรอด ๓ | (กฺรอด) ก. บรรเลงดนตรีประเภทเครื่องตีดำเนินทำนอง โดยวิธีบังคับหรือห้ามเสียงในช่วงท้ายให้สั้นลง มักใช้ในการตีระนาด ฆ้องวง และกรับเสภา. |
กรับ ๑ | (กฺรับ) น. เครื่องตีชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกหรือไม้เนื้อแข็ง ๒ อัน ใช้ขยับหรือตีกระทบกันสำหรับให้อาณัติสัญญาณ หรือบอกจังหวะในการขับร้องและบรรเลงดนตรี. |
กลอง | (กฺลอง) น. เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ขึงด้วยหนัง ใช้ตีบอกสัญญาณ กำกับจังหวะ หรือใช้ตีร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ตัวกลองเรียกว่า “หุ่น” ลักษณะกลมกลวงทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะริด ไม้มะม่วง มีทั้งหน้าเดียวและ ๒ หน้า ที่ขึ้นหนังหน้าเดียว เช่น โทน กลองยาว รำมะนา ที่ขึ้นหนัง ๒ หน้า เช่น กลองทัด ตะโพน เปิงมาง กลองแขก กลองมลายู กลองชนะ การขึ้นหนังมีทั้งที่ใช้หมุดตรึงให้แน่น และใช้โยงเร่งเสียงด้วยสายหนัง เรียกว่า หนังเรียด หรือใช้หวายหรือลวด ยังมีกลองที่หล่อด้วยโลหะทั้งลูก แต่มิได้ขึงด้วยหนัง ก็มี เช่น มโหระทึก และกลองที่ทำด้วยดินเผา การตีกลองอาจใช้ไม้ตี มือ (ฝ่ามือ) หรือนิ้ว เพื่อให้เกิดเสียงดังก้อง, ลักษณนามว่า ใบ หรือ ลูก. |
กังสดาล | (-สะดาน) น. เครื่องตีให้เกิดเสียงอย่างหนึ่ง เป็นแผ่นโลหะหล่อจากสัมฤทธิ์หรือทองเหลือง รูปร่างคล้ายพัดที่คลี่ออก ด้านบนเจาะรูแขวน ด้านล่างเป็นวงโค้งคล้ายวงเดือน เช่น แว่วสำเนียงเสียงระฆังกังสดาล (อิเหนา). |
แกร็บ | น. เครื่องตีทำด้วยไม้ ใช้ประกอบการแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน เช่นเซิ้ง. |
โกร่ง ๔ | (โกฺร่ง) น. เครื่องตีทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ค่อนข้างยาว เจาะรูเป็นช่วง ๆ ใช้ไม้กรับตีให้เกิดเสียง เช่น พิณพาทย์ฆ้องกลองดังทั้งเกราะโกร่ง (อิเหนา). |
ขิม | น. ชื่อเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู มี ๓ ขนาด ได้แบบอย่างมาจากประเทศจีน บรรเลงโดยใช้ไม้ตีบนเส้นลวด. |
ฆ้อง | น. เครื่องตีชนิดหนึ่ง ทำด้วยโลหะผสม รูปร่างเป็นแผ่นวงกลมมีปุ่มนูนกลมตรงกลางสำหรับตี มีขอบยื่นลงมารอบตัว เรียกว่า ใบฉัตร มีหลายชนิด เช่น ฆ้องกระแต ฆ้องชัย ฆ้องวง. |
ฉาบ ๑ | น. เครื่องตีกำกับจังหวะชนิดหนึ่ง ทำด้วยโลหะ รูปร่างเป็นแผ่นกลมคล้ายจาน มีปุ่มนูนขึ้นตรงกลาง เจาะรูกลางปุ่มร้อยเชือกหรือเส้นหนังสำหรับจับ มี ๒ ขนาด คือ ขนาดเล็ก เรียกว่า ฉาบเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๒-๑๔ เซนติเมตร และขนาดใหญ่ เรียกว่า ฉาบใหญ่ กว้าง ๒๔-๒๖ เซนติเมตร. |
ฉิ่ง ๑ | น. เครื่องตีกำกับจังหวะชนิดหนึ่ง ทำด้วยโลหะหล่อ ค่อนข้างหนา รูปร่างกลมคล้ายถ้วย เจาะรูตรงกลางร้อยเชือกไว้เป็นคู่กันสำหรับจับ |
แฉ ๑ | น. เครื่องตีชนิดหนึ่ง ทำด้วยโลหะ สำหรับตีขัดจังหวะ เล็กกว่าฉาบ. |
แฉ่ง | น. เครื่องตีประกอบจังหวะทำด้วยโลหะ รูปอย่างม้าล่อ. |
ตะขาบ ๓ | น. เครื่องตีให้เกิดเสียง, ไม้ไผ่ที่ผ่าขังปล้องแขวนไว้ตามยอดไม้สำหรับชักให้มีเสียงดังเพื่อไล่ค้างคาวเป็นต้น และที่พวกตลกลิเกละครเป็นต้นใช้ตีกันเล่น, จะขาบ ก็เรียก |
แตรวง | น. วงดนตรีซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมทองเหลืองจำพวกแตร และเครื่องตีเช่นกลอง จะจัดเป็นวงใหญ่หรือวงเล็กก็ได้ ใช้ในการบรรเลงเพลงต่าง ๆ. |
แตรวงโยธวาทิต | (-โยทะวาทิด) น. วงดนตรีทหารหรือตำรวจเป็นต้นซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ทำด้วยทองเหลือง จำพวกแตร เครื่องตี เช่น กลองใหญ่เล็ก และเครื่องลมต่าง ๆ มักจัดเป็นวงใหญ่ ใช้ในเวลากองทหารเดินและอื่น ๆ. |
ทางเก็บ | น. วิธีบรรเลงดนตรีแบบหนึ่ง โดยดำเนินทำนองเป็นพยางค์เสียงช่วงสั้นต่อเนื่องกันไป ส่วนใหญ่นิยมใช้กับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี เช่น ระนาดเอก ขิม. |
พิณพาทย์ | น. ชื่อเรียกวงดนตรีไทยโบราณ ประกอบด้วยเครื่องดีด คือ พิณ ผสมกับเครื่องตี ได้แก่ ระนาดและฆ้องวงชนิดต่าง ๆ เป็นหลัก และเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัด กลองแขก และกลองสองหน้า ต่อมาเปลี่ยนพิณ เป็น ปี่ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ปี่พาทย์. |
ระนาด ๑ | น. เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี มีลูกและเสียงเรียงต่อกันอยู่บนราง มีหลายแบบ มีไม้ตีคู่หนึ่ง เรียกว่า ไม้ระนาด, ลักษณนามว่า ราง. |
ระนาดแก้ว | น. เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ลักษณะคล้ายระนาดเอกเหล็กหรือระนาดทุ้มเหล็ก ลูกระนาดทำด้วยแผ่นแก้วหนาวางเรียงบนรางระนาด ปัจจุบันไม่นิยมใช้เนื่องจากเสียงไม่ไพเราะ. |
รางบรรทัด | น. เครื่องตีเส้นบรรทัดบนใบลาน. |
หน้า | ด้านหนึ่ง ๆ ของวัตถุแบน ๆ อย่างกระดาษ เช่น หน้ากระดาษ หน้าซอง, ด้านของเครื่องตีที่ขึงด้วยหนัง เช่น หน้ากลอง, ด้านหนึ่ง ๆ ของลูกเต๋าและนํ้าเต้าซึ่งมี ๖ ด้าน |