กระ ๒ | น. ชื่อไม้ต้นชนิด Elateriospermum tapos Blume ในวงศ์ Euphorbiaceae ผลกลมมี ๓ พู เปลือกแข็ง เมื่อแก่สีคลํ้าเกือบดำ เมล็ดรูปยาวรี เปลือกแข็งเป็นมันสีนํ้าตาลเข้ม ภายในมีเนื้อขาว ๒ กลีบประกบกัน เมื่อดิบมีพิษร้ายแรง ดองหรือคั่วแล้วกินได้ รสมัน เรียกว่า ลูกกระ ปักษ์ใต้และมลายูเรียก ประ. |
กระเชา | น. ชื่อไม้ต้นผลัดใบขนาดใหญ่ชนิด Holoptelea integrifolia (Roxb.) Planch. ในวงศ์ Ulmaceae ขึ้นอยู่ทั่วไป ผลแบนบางเป็นปีกโดยรอบ เนื้อไม้สดสีเหลืองมะนาว เมื่อแห้งเป็นสีนวล แข็งพอประมาณ ใช้ในการก่อสร้างที่ไม่ต้องรับนํ้าหนักมากนัก ทำเครื่องเรือน แกนร่ม ก้านและกล่องไม้ขีดไฟ, บางทีเรียก กระเจา หรือ กระจาว, พายัพและปักษ์ใต้เรียก กระเจ้า ขจาว หรือ ขเจา. |
กระซิก ๒ | น. ชื่อไม้พุ่มรอเลื้อยชนิด Dalbergia parviflora Roxb. ในวงศ์ Leguminosae มีทางปักษ์ใต้ เนื้อไม้สีแดงคลํ้าคล้ายไม้ชิงชัน, ครี้ หรือ สรี้ ก็เรียก. |
กระถิน | น. ชื่อไม้พุ่มหรือไม้ต้นไม่มีหนามชนิด Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ในวงศ์ Leguminosae ช่อดอกกลม สีนวล ฝักแบน ใบอ่อนและฝักอ่อนใช้เป็นอาหาร, กระถินไทย กระถินบ้าน กระถินยักษ์ หรือ สะตอเบา ก็เรียก, ปักษ์ใต้เรียก ตอเบา. |
กระทา | น. ชื่อนกขนาดเล็กหลายชนิด ในวงศ์ Phasianidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับไก่และไก่ฟ้า ลำตัวกลม ขนลายเป็นกระ ปีกและหางสั้น บินได้ในระยะทางสั้น ๆ คุ้ยเขี่ยหาอาหารบนพื้นดิน กินเมล็ดพืชและแมลง เช่น กระทาทุ่ง [ Francolinus pintadeanus (Scopoli) ] กระทาดงคอสีแสด [ Arborophila rufoyularis (Blyth) ] กระทาป่าไผ่ ( Bambusicola fytchii Anderson) กระทาดงปักษ์ใต้ [ A. chaltionii (Eyton) ]. |
กระทุ | น. ชื่อไม้พุ่มชนิด Rhodomyrtus tomentosa (Aiton) Hassk. ในวงศ์ Myrtaceae ขึ้นชุมตามป่าโปร่งทางปักษ์ใต้ ใบหนา สีเขียวแก่ ออกเป็นคู่ ๆ ตามกิ่ง บางทีออกเป็น ๓ ใบจากข้อเดียวกัน ด้านล่างของใบมีขนทึบสั้น ๆ ดอกสีชมพู สัณฐานคล้ายกุหลาบลาขนาดเล็ก ๆ ออกตามง่ามใบ ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ ๒-๓ ดอกก็มี ผลกลม เมื่อสุกสีม่วงดำ กินได้ มีรสหอมหวาน, ทุ พรวด พรวดใหญ่ หรือ พรวดกินลูก ก็เรียก. |
กระเทียม | น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Allium sativum L. ในวงศ์ Alliaceae คล้ายต้นหอม หัวเป็นกลีบ ๆ เมื่อแห้งสีขาว กลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน ใช้ปรุงอาหาร, พายัพเรียก หอมเตียม, อีสานเรียก หอมขาว, ปักษ์ใต้เรียก เทียม. |
กระบอกหัว | น. กะโหลกหัว เช่น อีกกระบอกหววมึงกูจะผ่า (ม. คำหลวง ชูชก), ปักษ์ใต้ว่า บอกหัว. |
กระบอก ๒ | น. ชื่อปลานํ้ากร่อยและปลาทะเลหลายชนิด ในสกุล Liza, Valamugil, Oedalechilus และ Mugil วงศ์ Mugilidae ลำตัวค่อนข้างกลม ปากเล็ก มีครีบหลัง ๒ ตอน เกล็ดใหญ่สีเงิน มีหลายชนิด ขนาดยาวได้ถึง ๑ เมตร มีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น กระบอกท่อนไต้ [ L. vaigiensi (Qnoy & Gaimard) ] กระบอกดำ [ L. parsia (Hamilton-Buchanan) ] กระบอกขาว [ V. seheli (Forsskål) ], กระเมาะ หรือ ละเมาะ ก็เรียก สำหรับปลาขนาดเล็ก, ปักษ์ใต้เรียก หมก หรือ มก. |
กระพี้เขาควาย | น. ชื่อไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ชนิด Dalbergia cultrata Graham ex Benth. ในวงศ์ Leguminosae ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าทุ่งทั่วไป เว้นแต่ปักษ์ใต้ แก่นสีดำแข็งและหนักมาก ใช้ทำเครื่องเรือน เพลาเกวียน และด้ามเครื่องมือต่าง ๆ. |
กระสุนพระอินทร์ | น. ชื่อกิ้งกือในสกุล Sphaerotherium วงศ์ Sphaerotheriidae ยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร หัวแบนเล็ก ลำตัวโค้งนูน มี ๑๓ ปล้อง ผิวลำตัวเรียบมัน ด้านหลังสีน้ำตาล ดำ ครีม หรือเขียว เมื่อถูกกระทบจะม้วนเข้าสอดกับปล้องสุดท้ายจนกลมคล้ายลูกกระสุนดินปั้น พบชุกชุมช่วงต้นฤดูฝนตามพื้นที่สูงที่มีใบไม้ทับถมและชุ่มชื้น, ปักษ์ใต้เรียก มวนชิด. |
กระหว่า | ว. ราวกับว่า เช่น หน้าตาหัวอกรกเป็นขน ดูสง่ากระหว่าคนหรือนนทรี (มโนห์รา), ปักษ์ใต้ว่า หวา. |
กระแห, กระแหทอง | น. ปลาตะเพียนขนาดกลางชนิด Barbonymus schwanefeldi (Bleeker) หรือ Puntius schwanefeldi (Bleeker) ในวงศ์ Cyprinidae ลำตัวสั้นกว้างคล้ายปลาตะเพียนขาว มักมีสีแดงอ่อนบนครีบ เฉพาะส่วนปลายของครีบหลังและขอบทั้งบนและล่างของครีบหางมีสีดำ ขนาดยาวได้ถึง ๔๐ เซนติเมตร, ตะเพียนหางแดง หรือ เลียนไฟ ก็เรียก, ปักษ์ใต้เรียก ลำปำ. |
กริงกริว | (กฺริงกฺริว) ว. เล็ก, ผอม, เช่น มนุษย์น้อยกริงกริวผิวเนื้อเหลือง, ปักษ์ใต้ว่า กริ้งกริ้ว. |
กล้วยหมูสัง | น. ชื่อไม้เถาเนื้อแข็งชนิด Uvaria grandiflora Roxb. ex Hornem. ในวงศ์ Annonaceae มีแถบปักษ์ใต้ ดอกสีแดงเลือดนก, ย่านนมควาย ก็เรียก. |
ก่อ ๒ | น. ชื่อไม้ต้นหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Fagaceae บางชนิดผลมีเนื้อในกินได้ รสมัน, ปักษ์ใต้เรียก กอ. |
กอบนาง | น. ชื่อไม้เถาชนิด Chilocarpus costatusMiq. ในวงศ์ Apocynaceae พบทางปักษ์ใต้ มียางขาว, ย่านกอบนาง ก็เรียก. |
กะทัง | น. ชื่อไม้ต้นขนาดกลางชนิด Litsea monopetala (Roxb.) Pers. ในวงศ์ Lauraceae มีมากทางปักษ์ใต้ ใบเมื่อขยี้มีกลิ่นฉุนคล้ายการบูร ไม้ใช้ก่อสร้างบ้านเรือนได้. |
กะพ้อ ๒ | น. ชื่อปาล์มขนาดย่อมในสกุล Licuala วงศ์ Palmae มีหลายชนิด เช่น ชนิด L. spinosa Thunb. มักขึ้นเป็นกออยู่ริมทะเล หรือในที่ซึ่งนํ้าเค็มขึ้นถึง ลำต้นสูงถึง ๔ เมตร ใบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๐-๑๑๐ เซนติเมตร เว้าเป็นแฉกลึก ก้านใบยาว ขอบก้านมีหนาม, ชนิด L. peltata Roxb. ขึ้นตามป่าดอนในที่ชุ่มชื้นและที่แฉะ ลักษณะคล้ายชนิดแรก แต่ก้านใบลํ้าอยู่ใต้โคนใบ ทั้ง ๒ ชนิดใบใช้ห่อทำไต้ ห่อของ เย็บเป็นร่ม มุงหลังคาชั่วคราว ใบอ่อนใช้มวนบุหรี่, กะชิง ก็เรียก, ปักษ์ใต้เรียก ชิง หรือ ชิ่ง, ปาล์มพวกนี้เรียก พ้อ ก็มี เช่น ใบพ้อพันห่อหุ้ม กฤษณา (โลกนิติ). |
กะลา ๒ | น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Etlingera elatior (Jack) R. M. Sm. ในวงศ์ Zingiberaceae ต้นคล้ายข่า สูง ๓-๔ เมตร ช่อดอกคล้ายบัวตูมแต่กลีบแข็ง สีชมพูหรือแดง มีดอกเล็ก ๆ แน่นเป็นกระจุกอยู่ภายใน ก้านช่อดอกผุดขึ้นจากดินและยาวได้ถึง ๑ เมตร หน่อและดอกอ่อนใช้เป็นอาหาร, กาหลา หรือ ดาหลา ก็เรียก, ปักษ์ใต้บางจังหวัดเรียก ปุดกะลา. |
กะลุมพี | น. ชื่อปาล์มชนิด Eleiodoxa conferta (Griff.) Burret. ในวงศ์ Palmae ขึ้นเป็นกอในป่าพรุและที่ชื้นแฉะทางภาคใต้ ผลเป็นช่อใหญ่และแน่น ปลายผลตัด ผิวเหลืองเกลี้ยงเป็นมัน ไม่มีหนาม เยื่อหุ้มเมล็ดขาว รสเปรี้ยว ๆ ฝาด ๆ กินได้ ยางในลำต้นเหนียวใช้ติดกระดาษแทนกาวได้, ลุมพี ก็เรียก, ปักษ์ใต้เรียก หลุมพี. |
กัง | น. ชื่อลิงชนิด Macaca nemestrina (Linn.) ในวงศ์ Cercopithecidae ขนลำตัวสีน้ำตาลอมเทา หางสั้นงอโค้งขึ้นไปทางด้านหลัง ทางปักษ์ใต้ใช้เก็บมะพร้าว, กะบุด ก็เรียก. |
กางเขน | น. ชื่อนกขนาดเล็กหลายชนิด ในวงศ์ Turdidae ปากยาวปานกลางปลายแหลม หางยาวกว่าลำตัวมาก เช่น กางเขนบ้าน [ Copsychus saularis (Linn.) ] ส่วนบนลำตัวสีดำ ส่วนล่างตั้งแต่อกลงไปสีขาวหม่น ปีกมีลายพาดสีขาว มักอยู่เป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ กินแมลง, ภาคกลางเรียก กางเขน, พายัพเรียก จีแจ๊บ, อีสานเรียก จี่จู้, ปักษ์ใต้เรียก บินหลา, กางเขนดง [ C. malabaricus (Scopoli) ] ปาก หัว หลัง อก และปีกของตัวผู้สีดำเหลือบ หลังส่วนล่างติดโคนหางสีขาว อกส่วนล่างไปจนถึงหางสีน้ำตาลแดง หางยาว ด้านบนสีดำ ใต้หางและขอบหางสีขาว ขาสีน้ำตาลอมชมพู ตัวเมียสีจางไม่สดใสเท่าตัวผู้และหางสั้นกว่า. |
แก้มช้ำ | น. ชื่อปลานํ้าจืดชนิด Puntius orphoides (Valenciennes) ในวงศ์ Cyprinidae รูปร่างคล้ายปลาตะเพียน แต่มีลักษณะเด่นที่มีลำตัวยาวกว่า โดยเฉพาะที่แผ่นปิดเหงือกมีสีแดงเรื่อคล้ายรอยชํ้า สุดแผ่นปิดเหงือกดำ โคนครีบหางมีจุดสีดำ พื้นครีบสีแดง ขอบบนและล่างดำ มีชุกชุมทั่วไป ยาวได้ถึง ๒๕ เซนติเมตร, ปักษ์ใต้เรียก ปก. |
แกระ ๑ | (แกฺระ) น. เครื่องมือชนิดหนึ่งสำหรับตัดรวงข้าว ใช้ทางปักษ์ใต้. |
ขมิ้น ๑ | (ขะมิ่น) น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Curcuma longa L. ในวงศ์ Zingiberaceae เหง้าสีเหลือง ใช้ปรุงอาหาร ทำยา ทำผงทาตัว และใช้ย้อมผ้า, ขมิ้นชัน ก็เรียก, อีสานและปักษ์ใต้เรียก ขี้มิ่น. |
ขมิ้นอ้อย | น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Curcuma zedoaria (Berg.) Roscoe ในวงศ์ Zingiberaceae เหง้าสีเหลือง บางส่วนโผล่พ้นดินขึ้นมา ใช้ปรุงอาหารและทำยา, ขมิ้นขึ้น หรือ ขมิ้นหัวขึ้น ก็เรียก, ปักษ์ใต้เรียก กะตุมู. |
ข่อยน้ำ | น. ชื่อไม้ต้นขนาดย่อมชนิด Streblus taxoides (K. Heyne) Kurz ในวงศ์ Moraceae ขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ลำต้นและกิ่งก้านมักงอหักไปมา ใบเกลี้ยง ไม่สากคาย, ข่อยหยอง ก็เรียก, ปักษ์ใต้เรียก ขี้แรด. |
ข่อยหนาม | น. ชื่อไม้ต้นขนาดเล็กชนิด Streblus ilicifolius (Vidal) Corner ในวงศ์ Moraceae มักขึ้นบนเขาหินปูนในป่าดิบ ลำต้นตรง ใบแข็งหนา ด้านบนเขียวแก่เป็นมัน ขอบใบเป็นหนามแหลมคม, ปักษ์ใต้เรียก กระชิด. |
ข้าวยำ | น. อาหารชนิดหนึ่งของชาวปักษ์ใต้ ใช้ข้าวสุกคลุกกับเครื่องปรุง มีกุ้งแห้งป่น มะพร้าวคั่ว นํ้าเคยหรือนํ้าบูดู ส้มโอ และผักต่าง ๆ หั่นละเอียด เช่น ใบมะกรูด ตะไคร้ ถั่วฝักยาว. |
ขี้ยอก | น. ชื่อปลานํ้าจืดหลายชนิด ในสกุล Mystacoleucusวงศ์ Cyprinidae รูปร่างทั่วไปคล้ายปลาตะเพียน เว้นแต่มีหนามแข็งยื่นจากต้นครีบหลังออกไปข้างหน้า ขนาดยาวได้ถึง ๒๐ เซนติเมตร เช่น ชนิด Mystacoleucus marginatus (Valenciennes), M. atridorsalis Fowler, ชื่อนี้เรียกกันเฉพาะในเขตแม่นํ้าปิงเท่านั้น ในเขตแม่นํ้าน่านเรียก หนามไผ่, ปักษ์ใต้เรียก หญ้า. |
คูน ๑ | น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Colocasia gigantea Hook. f. ในวงศ์ Araceae คล้ายบอน ก้านใบและแผ่นใบสีเขียวอ่อน มีนวล ก้านใบทำให้สุกกินได้, ปักษ์ใต้เรียก อ้อดิบ. |
เงาะ ๒ | น. ชื่อไม้ต้นขนาดกลางชนิด Nephelium lappaceum L. ในวงศ์ Sapindaceae ผลกินได้ เปลือกมีขนยาวสีเหลืองหรือแดงเป็นต้น, ปักษ์ใต้เรียก พรวน. |
จระเข้ | (จอระ-) น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน มีหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Crocodylidae ปากและหัวยาว ปลายปากนูนสูงขึ้นเป็นช่องเปิดของรูหายใจ เรียกว่า ก้อนขี้หมา ลำตัวกลมยาว หนังเป็นเกล็ดแข็งทั้งตัว หางแบนยาวทางข้างใช้โบกว่ายนํ้า มักหากินในนํ้า อาศัยบริเวณป่าริมน้ำ ในประเทศไทยมี ๓ ชนิด คือ จระเข้บึง จระเข้นํ้าจืด หรือจระเข้สยาม ( Crocodylus siamensisSchneider) จระเข้นํ้าเค็ม อ้ายเคี่ยม หรืออ้ายทองหลาง ( C. porosus Schneider) และจระเข้ปากกระทุงเหวหรือตะโขง [ Tomistoma schlegelii (S. Müller) ], ตะเข้ หรือ อ้ายเข้ ก็เรียก, อีสานเรียก แข้, ปักษ์ใต้เรียก เข้ |
จันทน์กะพ้อ | น. ชื่อไม้ต้นขนาดกลางชนิด Vatica diospyroides Symington ในวงศ์ Dipterocarpaceae ขึ้นตามป่าดิบทางปักษ์ใต้และปลูกกันตามบ้าน ดอกขาว หอมคล้ายนํ้ามันจันทน์. |
จำปูน | น. ชื่อไม้พุ่มชนิด Anaxagorea javanica Blume ในวงศ์ Annonaceae มีตามป่าดิบทางปักษ์ใต้ กลีบดอกแหลมหนาแข็ง ด้านนอกสีเขียว ด้านในสีขาวนวล กลิ่นหอมมาก. |
ชันโรง | (ชันนะ-) น. ชื่อแมลงขนาดเล็กหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Apidae โดยทั่วไปมีขนาดลำตัวยาวไม่เกิน ๑๐ มิลลิเมตร อยู่รวมกันเป็นฝูงและแบ่งวรรณะเหมือนผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กในอย่างผึ้งทั่วไป จึงไม่สามารถต่อยได้ ทำรังตามโพรงไม้หรือตามรอยแตกฝาผนังของบ้านเรือน รังทำจากสารเหนียวผสมขี้ดินและยางไม้ ที่พบมากในประเทศไทยอยู่ในสกุล Trigona ชนิดที่พบบ่อย เช่น ชนิด T. terminata Smith, T. apicalis Smith มีชื่ออื่น ๆ อีกตามท้องถิ่น เช่น หูด ขี้ตังนี หรือ กินชัน, อีสานเรียก ขี้สูด, ปักษ์ใต้เรียก ขี้ชัน. |
ชาวนอก | น. เรียกไทยทางปักษ์ใต้ |
โชงโลง | น. เครื่องมือชนิดหนึ่งสำหรับวิดน้ำ ลักษณะคล้ายลูกฟักผ่าซีกและตัดครึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีคันยาวต่อออกไปทางท้ายสำหรับจับ ผูกโยงแขวนไว้กับขาหยั่ง แล้วจับคันจ้วงน้ำสาดออกไปยังที่ที่ต้องการ, ชงโลง ก็ว่า, อีสานเรียก กะโซ้, พายัพเรียก กระโจ้, ปักษ์ใต้เรียก โพง. |
ดาโป้งเป้ง | น. ชื่อแมลงพวกมวนหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Nepidae ที่พบบ่อยอยู่ในสกุล Laccotrephesเช่น ชนิด L. ruberLinn. และ L. robustus Stål ลำตัวยาว ๓-๔ เซนติเมตร มีหางยาวยื่นออกมา ๒ เส้น ตัวอ่อนอยู่ในน้ำ ขาคู่หน้าแข็งแรง จับสัตว์น้ำขนาดเล็กเช่นลูกน้ำหรือดักแด้ยุงกิน, มวนแมงป่องน้ำ หรือ แมลงดาโป้งเป้ง ก็เรียก, พายัพเรียก ดากลั้นเยี่ยว หรือ ดาเยี่ยว, อีสานเรียก แมงฮอด อีงอด งอดน้ำ หรือ กะโซ่น้ำ, ปักษ์ใต้เรียก แมลงจิ้มฟันจระเข้ หรือ แมลงดาขี้ควาย. |
ตด ๒ | น. ชื่อแมลงพวกด้วงหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Carabidae หัวและอกเล็ก แคบ ท้องโต ปีกแข็งคลุมส่วนท้องไม่หมด ลำตัวยาว ๒-๓ เซนติเมตร สีนํ้าตาลเหลืองหรือนํ้าตาลแก่ มีลายสีเข้มตามหัว อก และท้อง เมื่อถูกรบกวนสามารถปล่อยสารพิษประเภทควินอลออกมาทางก้นมีเสียงดัง ร้อนและมีควัน ที่สำคัญ เช่น ชนิด Pheropsophus occipitalis (MacLeay), P. javanus (Dejean), ปักษ์ใต้เรียก ขี้ตด. |
ต้นตายใบเป็น | น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Kalanchoe pinnata (Lam.) Pers. ในวงศ์ Crassulaceae, คว่ำตายหงายเป็น โคนตายปลายเป็น หรือ ส้มเช้า ก็เรียก, ปักษ์ใต้เรียก กะเร. |
ตะพาบ ๑, ตะพาบน้ำ | น. ชื่อเต่านํ้าจืดกระดองอ่อนหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Trionychidae กระดองไม่มีเกล็ดเป็นแผ่นหนังอ่อนนิ่มมีเชิงแผ่กว้าง หลายชนิดมีจมูกยื่นยาว บางชนิดจมูกสั้น ตีนเป็นแผ่นแบนคล้ายพาย ชนิดที่พบมาก ได้แก่ ตะพาบสวน [ Amyda cartilageneus (Boddaert) ] ชนิดที่พบน้อย ได้แก่ ม่านลาย ( Chitra chitra Nutphand), กริว กราว หรือ ปลาฝา ก็เรียก, ปักษ์ใต้ เรียก จมูกหลอด. |
ตีนตุ๊กแก | ชื่อเห็ดชนิด Schizophyllum communeFr. ในวงศ์ Schizophyllaceae ขึ้นตามเปลือกไม้ ดอกเห็ดรูปพัดขอบจักม้วนลง สีขาวอมเทาอ่อน ด้านล่างมีครีบสีนํ้าตาลเข้ม เนื้อเหนียว กินได้, เห็ดข้าวตอก ก็เรียก, ปักษ์ใต้เรียก เห็ดแครง. |
ทับ ๔ | น. โทน, ชาวพื้นเมืองปักษ์ใต้ยังคงเรียกโทนชาตรีว่า ทับ เช่นที่ใช้ประโคมในการแสดงหนังตะลุง มโนราห์ และโต๊ะครึม. |
บัวบก | น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Centella asiatica (L.) Urb. ในวงศ์ Umbelliferae ขึ้นตามที่ชุ่มชื้น ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ใบเดี่ยวกลม ขอบใบหยักเล็กน้อย ใบและต้นกินได้และใช้ทำยาได้, พายัพและอีสานเรียก ผักหนอก, ปักษ์ใต้และตราดเรียก ผักแว่น. |
บูดู | น. น้ำที่ได้จากปลาหมักจนเปื่อย ต้มสุกแล้วปรุงรส มี ๒ ชนิด คือ บูดูแบบเค็ม เป็นเครื่องจิ้มกับผักสด และบูดูแบบหวาน สำหรับคลุกกับข้าวยำปักษ์ใต้. |
ปักษ-, ปักษ์ | (ปักสะ-) น. ฝ่าย, ข้าง, เช่น ปักษ์ใต้, กึ่งของเดือนจันทรคติ คือ เดือนหนึ่งมี ๒ ปักษ์ ข้างขึ้นเรียก ศุกลปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายขาว หมายเอาแสงเดือนสว่าง) ข้างแรมเรียก กาฬปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายดำ หมายเอาเดือนมืด), ครึ่งเดือน เช่น หนังสือรายปักษ์. |
ปากใต้ | น. ปักษ์ใต้, ฝ่ายใต้. |
เปียะ | น. ชื่อไม้เถาชนิดหนึ่งในสกุล Freycinetia วงศ์ Pandanaceae, ปักษ์ใต้เรียก เตยเลื้อย. |