กะละปังหา | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ชั้น Anthozoa ตัวมีขนาดเล็ก รูปร่างทรงกระบอก อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สร้างเปลือกเป็นโครงร่างแข็งเชื่อมต่อเนื่องกันไปลักษณะคล้ายกิ่งไม้ มีสีต่างกันตามแต่ชนิด บางชนิดมีขนาดใหญ่และแข็ง นิยมนำมาทำเป็นลูกปัด เครื่องประดับ พวกที่อยู่ในอันดับ Gorgonacea มีสีแดง เหลือง ส้ม ม่วง พวกที่อยู่ในอันดับ Antipatharia มีสีดำ, กัลปังหา ก็เรียก. |
กั้ง ๑ | น. ชื่อสัตว์นํ้าไม่มีกระดูกสันหลังในชั้น Crustacea อันดับ Stomatopoda มีหลายวงศ์ ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ Squillidae หายใจด้วยเหงือก ลำตัวแบนหรือกลม แบ่งเป็นปล้อง ๆ เปลือกที่หุ้มท่อนหัวและอกคลุมมาถึงอกปล้องที่ ๕ แต่ไม่ถึงปล้องที่ ๘ กรีมีลักษณะแบนราบ มี ๖ ขา, กั้งตั๊กแตน ก็เรียก. |
การ์ตูน ๒ | น. ชื่อปลาทะเลขนาดเล็กทุกชนิดในสกุล Amphiprion วงศ์ Pomacentridae ลำตัวสั้นและแบนข้าง สีเหลือง แสด หรือแดง บางชนิดมีส่วนบนรวมทั้งครีบหลังดำคลํ้า มักมีแถบสีขาวเด่นพาดขวางบนหัวและลำตัว ๑-๒ แนว แล้วแต่ชนิดหรือขนาดบ้างมีสีส้ม พบอาศัยตามแนวปะการัง โดยเฉพาะอยู่กับดอกไม้ทะเลซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทหนึ่งในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ขนาดยาวได้ถึง ๑๖ เซนติเมตร. |
กุ้ง ๑ | น. ชื่อสัตว์นํ้าไม่มีกระดูกสันหลังในชั้น Crustacea อันดับ Decapoda มีหลายวงศ์ หายใจด้วยเหงือก ลำตัวยาว แบนหรือกลม แบ่งเป็นปล้อง ๆ เปลือกที่หุ้มท่อนหัวและอกคลุมมาถึงอกปล้องที่ ๘ ส่วนใหญ่กรีมีลักษณะแบนข้าง ก้ามและขาอยู่ที่ส่วนหัวและอก มี ๑๐ ขา พบในนํ้าจืดและนํ้าเค็ม มีหลายชนิด เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งก้ามเกลี้ยง กุ้งกุลาดำ กุ้งตะกาด กุ้งตะเข็บ กุ้งหัวแข็ง กุ้งแชบ๊วย. |
จิ้งเหลน | น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Scincidae หัวค่อนข้างโต ลำตัวยาว เกล็ดเรียบเป็นมันซ้อนกันตั้งแต่คอตลอดลำตัวไปจนถึงขาและหาง หางยาว พวกที่มี ๔ ขา เช่น จิ้งเหลนบ้าน [ Mabuya multifasciata (Kuhl) ] จิ้งเหลนลาย [ Lipinia vittigera (Boulenger) ] พวกที่ไม่มีขา เรียก จิ้งเหลนด้วง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนบก หากินตามพื้นดินที่มีกิ่งไม้และใบไม้ปกคลุม กินแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในดิน ชนิดที่อยู่ใต้ผิวดินมีขาเล็กมาก เช่น จิ้งเหลนเรียวขาเล็กหรือเมียงู [ Lygosoma quadrupes (Linn.) ], พายัพเรียก จั๊กเล้อ. |
ดอกไม้ทะเล | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ในอันดับ Actininaria ลำตัวอ่อนนุ่ม รูปทรงกระบอก ยืดหดได้ ด้านหนึ่งเป็นฐานสำหรับยึด ด้านตรงข้ามเป็นช่องปาก มีหนวดมาก เมื่อยืดตัวออกคล้ายดอกไม้บาน เมื่อหดตัว เรียก สะดือทะเล, ดากทะเล หรือ เห็ดหลุบ ก็เรียก. |
ดาวทะเล | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ในชั้น Asteroidea ลำตัวแบนลักษณะค่อนข้างกลม มีแขนยื่นออกรอบตัว ๕ แขน คล้ายดาว ยกเว้นบางชนิด มี ๗-๑๔ แขน หลังเป็นหนามขรุขระ, ปลาดาว ก็เรียก. |
ทาก ๑ | น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพวกปลิง ในชั้น Hirudinea ลำตัวกลมยาวเป็นปล้อง ยืดหดได้มาก อาศัยบนบก ตามป่า ต่อมน้ำลายสร้างสารฮิรูดิน (hirudin) เมื่อดูดกินเลือดสัตว์เลือดอุ่นทำให้เลือดไม่แข็งตัว เช่น ชนิด Haemadipsa interrupta Moore ในวงศ์ Haemadipsidae, ปลิงบก ก็เรียก. |
ปลิง ๑ | (ปฺลิง) น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ในชั้น Hirudinea ลำตัวกลมยาว ยืดหดได้ เกาะคนหรือสัตว์เลือดอุ่นเพื่อดูดกินเลือด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำจืด เช่น ปลิงควาย ( Hirudo medicinalisLinn.), ปลิงเข็ม[ Hirudinaria manillensis (Lesson) ]. |
ปลิงทะเล | น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในชั้น Holothuroidea ลำตัวรูปทรงกระบอกยืดหดได้ หัวท้ายมนกลม อาศัยอยู่ในทะเล บางชนิดรับประทานได้ เช่น ปลิงขาว ( Holothuria scabra Jaeger) ปลิงดำ ( H. atra Jaeger) ในวงศ์ Holothuriidae. |
ปะการัง | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ในชั้น Anthozoa ส่วนมากตัวมีขนาดเล็ก พวกเดียวกับดอกไม้ทะเล รูปทรงกระบอก อาศัยอยู่เดี่ยว ๆ หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สร้างหินปูนห่อหุ้มตัวเป็นโครงร่างหลายแบบ อาศัยและเจริญเติบโตในทะเลเขตร้อน บริเวณชายฝั่งและรอบ ๆ เกาะ เช่น ปะการังเห็ด [ Fungia fungites (Linn.) ] ปะการังเขากวาง [ Acropora formasa (Dana) ] ในโครงสร้างที่ทับถมกันเพิ่มมากขึ้น เรียกว่า หินปะการัง, ถ้ามากจนเป็นโขด เกาะ หรือเทือก ก็เรียกว่า โขดปะการัง เกาะปะการัง หรือเทือกปะการัง, บางทีเรียกเป็น กะรัง. |
ปู ๑ | น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในชั้น Crustacea อันดับ Decapoda มีหลายวงศ์ หายใจด้วยเหงือก หัวและอกรวมกันเป็นลำตัว ท้องแบนพับอยู่ใต้อก เรียก จับปิ้งหรือตะปิ้ง มีรยางค์ขา ๕ คู่ คู่แรกเป็นขาก้าม พบอาศัยอยู่บนบกในน้ำจืด และทะเล เช่น ปูดำหรือปูทะเล ปูม้า ปูแสม |
พยาธิ ๒ | (พะยาด) น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งอย่างน้อยในระยะหนึ่งของชีวิตจะอาศัยดูดกินเลือดอยู่ในมนุษย์และสัตว์ มีรูปร่างและขนาดต่าง ๆ กัน ชนิดตัวแบน เช่น พยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด ชนิดตัวกลมหรือหนอนพยาธิ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้าย พยาธิเข็มหมุด. |
เพรียง ๒ | (เพฺรียง) น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังในชั้น Cirripedie ส่วนใหญ่มีเปลือกหุ้มตัวซึ่งเป็นแผ่นหินปูน มีหลายพวก เช่น เพรียงหินหรือเพรียงสนับหรือสนับทึบ วงศ์ Balanidae, เพรียงก้านหรือเพรียงคอห่าน วงศ์ Lepadidae. |
เพรียงก้าน | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง ในวงศ์ Lepadidae เปลือกหุ้มเป็นแผ่นหินปูน ๕ แผ่นประกบกันมีลักษณะคล้ายดอกบัว ส่วนท้ายมีก้านยื่นออกมานอกเปลือกใช้เกาะติดกับวัตถุ, เพรียงคอห่าน ก็เรียก. |
เพรียงหิน | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง ในวงศ์ Balanidae เปลือกหุ้มตัวเป็นแผ่นหินปูน ๖ แผ่น ประกบกันมีลักษณะคล้ายภูเขาไฟ ส่วนฐานเชื่อมติดกับวัตถุ ปากเปิดด้านบน เช่น ชนิด Balanus variegates Darnin, สนับ หรือ สนับทึบ ก็เรียก. |
ฟองน้ำ ๒ | น. ชื่อสัตว์นํ้าไม่มีกระดูกสันหลังไฟลัม Porifera มีเนื้อเยื่อ ๒ ชั้นลักษณะเป็นรูพรุน มีทั้งโครงสร้างแข็งและอ่อนนุ่ม ส่วนใหญ่พบในทะเล ที่พบในนํ้าจืดเรียก ฟองนํ้านํ้าจืด จำพวกที่มีโครงสร้างอ่อนนุ่มซึ่งพบในทะเลนำมาใช้ถูตัวได้, โดยปริยายใช้เรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นรูพรุนอ่อนนุ่ม และซับนํ้าได้ดี. |
แมงกะพรุน | น. ชื่อสัตว์นํ้าไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิดในไฟลัม Cnidaria ลำตัวคล้ายร่ม ลักษณะเป็นวุ้น ปากอยู่ด้านล่าง มีอวัยวะคล้ายหนวดรอบปาก เช่น แมงกะพรุนจาน หรือแมงกะพรุนหนัง ซึ่งกินได้ ส่วนแมงกะพรุนถ้วย แมงกะพรุนไฟ และแมงกะพรุนลาย มีพิษ, กะพรุน ก็เรียก. |
แมลง | (มะแลง) น. ชื่อสัตว์ขาปล้องในชั้น Hexapoda (Inseeta) มีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ ระยะโตเป็นตัวเต็มวัยร่างกายแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน เห็นชัดเจน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีขนาดแตกต่างกันมาก มีขา ๖ ขา มีหนวดหนึ่งคู่ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพวกเดียวที่มีปีก ซึ่งส่วนใหญ่มี ๒ คู่ ยกเว้นบางพวกมี ๑ คู่ หรือไม่มี เป็นสัตว์พวกที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดในโลก พบได้ทั่วไป. |
เลือด | น. ของเหลวปรกติมีสีแดง อยู่ในหลอดเลือดและหัวใจของคนและสัตว์ ประกอบด้วยน้ำเลือดและเม็ดเลือด ส่วนที่เป็นสีแดงเกิดจากสีในเม็ดเลือดแดง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น แมลง กุ้ง หอย เม็ดเลือดเห็นมีสีน้ำเงินจาง ๆ |
ไส้เดือน ๑ | น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มที่มีลำตัวกลมเป็นปล้องหลายชนิด หลายสกุล หลายวงศ์ ขนาดแตกต่างกันมีตั้งแต่ ๒๐ เซนติเมตร ถึง ๑ เมตร มีสองเพศในตัวเดียวกัน สืบพันธุ์โดยการจับคู่ ชนิดที่รู้จักกันดี คือ ชนิด Pheretima peguana (Rosa) ในวงศ์ Megascolecidae มักพบชุกชุมตามดินร่วนซุย ตามใต้กองขยะมูลฝอย อยู่ในรูขนาดเท่าลำตัว กินดินที่มีอินทรียวัตถุและถ่ายมูลไว้ที่ปากรู มักใช้เป็นเหยื่อตกปลา, ไส้เดือนดิน หรือ รากดิน ก็เรียก. |
ไส้เดือนฝอย | น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มที่มีลำตัวกลมไม่เป็นปล้องหลายชนิด หลายสกุล หลายวงศ์ ขนาดแตกต่างกัน ชนิดที่รู้จักกันดี คือ ไส้เดือนฝอยรากปม [ Meloidogyne javanica (Treub) ] ในวงศ์ Meloidogynidae ขนาดประมาณ ๒ มิลลิเมตร ลำตัวเป็นริ้ว เป็นปรสิตตามรากผัก ถั่ว และต้นไม้. |
หนอน ๒ | (หฺนอน) น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีลำตัวยาวอ่อนนุ่ม ไม่มีรยางค์. |
หมึก ๒ | น. ชื่อสัตว์ทะเลที่ไม่ใช่ปลา ไม่มีกระดูกสันหลัง ชั้น Cephalopoda ไฟลัม Mollurea มีอวัยวะที่เรียกกันว่า หนวดหรือแขน อยู่รอบปาก ใช้พยุงตัวและจับเหยื่อ มีถุงบรรจุน้ำสีดำคล้ายหมึกสำหรับปล่อยลงน้ำเพื่อพรางตัว มีหลายชนิด เช่น หมึกกระดองลายเสือ (Sepia pharaonisEhrenberg) ในวงศ์ Sepiidae หมึกกล้วย [ Photololigo duvaucelii (d’ Orbigny) ] ในวงศ์ Loliginidae, ปลาหมึก ก็เรียก. |
หอย | น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัม Mollusca มีเปลือกหุ้มตัว ส่วนใหญ่แบ่งออกได้เป็น ๒ จำพวก ตามลักษณะเปลือก คือ จำพวกกาบเดี่ยว เช่น หอยขม (Filopaludina doliaris Gould) และจำพวกกาบคู่ เช่น หอยนางรม [ Saccostrea forskali (Gmelin) ] ที่มีเป็นส่วนน้อยเป็นพวกที่มีเปลือกแตกต่างออกไป เช่น หอยงาช้าง ชนิด Dentalium longitrorsum Reeve หอยงวงช้าง ชนิด Nautilus pompilius (Linn.). |
หอยงวงช้าง | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง ชั้น Cephalopoda เปลือกม้วนเป็นวงในระนาบเดียวกัน พื้นสีนวลมีลายสีน้ำตาลอมแดง ด้านในเป็นมุก เช่น ชนิด Nautilus pompilius (Linn.) ในวงศ์ Nautilidae, หอยงวงช้างมุก ก็เรียก. |
หอยงวงช้างกระดาษ | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังชั้น Cephalopoda เปลือกบางเบาเปราะ ม้วนเป็นวงในระนาบเดียวกัน วงแรก ๆ ของเปลือกมีสีน้ำตาลเข้มและค่อย ๆ จางลงจนเป็นสีขาวหม่น เช่น ชนิด Argonauta argo Linn. ในวงศ์ Argonautidac. |
หอยปากเป็ด | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังที่ไม่ใช่หอย ในวงศ์ Lingulidae ไฟลัม Brachiopoda เปลือกสีเขียว แบน บาง มีก้านยาวยื่นฝังไปในโคลนยืดหดได้ อาศัยอยู่ตามหาดเลน เช่น ชนิด Lingula unguis (Solander). |
หอยเม่น | น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังที่ไม่ใช่หอยชั้น Echinoidea ไฟลัม Echinodermata รูปทรงกลมคล้ายผลส้ม มีหนามแข็งสั้นหรือยาวทั่วตัว อาศัยตามแนวปะการัง มีหลายชนิดหลายสกุล เช่น ชนิด Diadema setosum (Leska), เม่นทะเล ก็เรียก. |
อึ่ง | น. ชื่อสัตว์สะเทินนํ้าสะเทินบกหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Microhylidae ขนาดแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดอยู่ระหว่าง ๒-๘ เซนติเมตร รูปร่างอ้วนป้อมและมักพองตัวได้ ส่วนใหญ่เป็นสีเทาหรือน้ำตาลเข้ม ผิวหนังเรียบ บริเวณฝ่าตีนมีสันแข็งใช้ขุดดิน อาศัยอยู่ใต้ผิวดินหรือใต้ก้อนหินในเวลากลางวันและในฤดูแล้ง ออกหากินตามพื้นดินเมื่ออากาศชื้นโดยเฉพาะช่วงหลังฝนตก กินแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น อึ่งอ่างหรืออึ่งอ่างบ้าน ( Kaloula pulchra Gray) อึ่งแว่น อึ่งแดง หรืออึ่งลาย [ Calluella guttulata (Blyth) ]. |
ไฮดรา | (-ดฺรา) น. ชื่อเรียกสัตว์นํ้าจืดไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Hydridae ลำตัวทรงกระบอกข้างในกลวง ยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร มีเนื้อเยื่อ ๒ ชั้น ยืดหดได้ มีหนวด ๔–๑๒ เส้น เช่น สกุล Hydra. |