กรอก ๒ | (กฺรอก-) น. ชื่อนกยางขนาดเล็ก ในวงศ์ Ardeidae นอกฤดูผสมพันธุ์เพศผู้และเพศเมียสีลำตัวคล้ายกัน แต่ในฤดูผสมพันธุ์สีต่างกัน ในประเทศไทยมี ๓ ชนิด คือ ยางกรอกพันธุ์จีน [ Ardeola bacchus (Bonaparte) ] หัวสีนํ้าตาลแดง หลังสีเทาดำ อกสีแดง ยางกรอกพันธุ์ชวา [ A. speciosa (Horsfield) ] หัวและคอสีเหลือง หลังสีเทาดำ อกสีเหลือง และยางกรอกพันธุ์อินเดีย [ A. grayii (Sykes) ] หัวและคอสีเหลือง หลังสีแดงเข้ม อกสีน้ำตาลเหลือง กินปลาและสัตว์น้ำ. |
กระสา ๑ | น. ชื่อนกขนาดใหญ่หลายชนิด ในวงศ์ Ciconiidae ปากหนาแบนข้าง ยาว ปลายแหลมตรง คอและขายาว เวลาบินคอเหยียดตรง ทำรังด้วยกิ่งไม้อยู่บนยอดไม้สูง กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น กระสาคอขาว [ Ciconia episcopus (Boddaert) ] กระสาคอดำ [ Ephippiorhynchus asiaticus (Latham) ]. |
กระสา ๑ | ชื่อนกยางขนาดใหญ่ ในวงศ์ Ardeidae ปากยาว ปลายแหลม ฤดูผสมพันธุ์เพศผู้มีขนยาวบริเวณท้ายทอย ๒ เส้น คอยาว เวลาบินคอโค้งงอ ขายาว เล็บของนิ้วกลางที่หันไปข้างหน้าหยักคล้ายซี่หวี ทำรังด้วยกิ่งไม้บนยอดไม้สูงปานกลาง กินปลาและสัตว์น้ำ ในประเทศไทยมี ๓ ชนิด คือ กระสานวล ( Ardea cinerea Linn.) กระสาแดง ( A. purpurea Linn.) และกระสาใหญ่ ( A. sumatrana Raffles). |
กาบบัว | น. ชื่อนกขนาดใหญ่ชนิด Mycteria leucocephala (Pennant) ในวงศ์ Ciconiidae คอและขายาว ปากยาวสีเหลือง หัว คอ และลำตัวสีขาว มีแถบดำคาดขวางอก ขนคลุมขนปีกตอนปลายสีชมพู อาศัยอยู่ตามบึงและหนองนํ้า กินปลาและสัตว์น้ำ. |
ค่าน้ำ | น. อากรจับสัตว์นํ้าซึ่งกำหนดตามแหล่งที่จับสัตว์น้ำซึ่งมีผู้ผูกอากรไว้ หรือเก็บจากเครื่องมือที่ใช้ เช่น โป๊ะ อวน ยอ แห เบ็ดราว. |
เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม | ก. เช่าที่ดินของผู้อื่นเพื่อการทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำนาเกลือ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด. |
ดาโป้งเป้ง | น. ชื่อแมลงพวกมวนหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Nepidae ที่พบบ่อยอยู่ในสกุล Laccotrephesเช่น ชนิด L. ruberLinn. และ L. robustus Stål ลำตัวยาว ๓-๔ เซนติเมตร มีหางยาวยื่นออกมา ๒ เส้น ตัวอ่อนอยู่ในน้ำ ขาคู่หน้าแข็งแรง จับสัตว์น้ำขนาดเล็กเช่นลูกน้ำหรือดักแด้ยุงกิน, มวนแมงป่องน้ำ หรือ แมลงดาโป้งเป้ง ก็เรียก, พายัพเรียก ดากลั้นเยี่ยว หรือ ดาเยี่ยว, อีสานเรียก แมงฮอด อีงอด งอดน้ำ หรือ กะโซ่น้ำ, ปักษ์ใต้เรียก แมลงจิ้มฟันจระเข้ หรือ แมลงดาขี้ควาย. |
ดาสวน | น. ชื่อแมลงพวกมวนชนิด Sphaerodema rusticum (Fabricius) และ S. molestum (Dufour) ในวงศ์ Belostomatidae ลักษณะคล้ายแมลงดานาแต่ตัวเล็กกว่ามาก ลำตัวยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ตัวอ่อนอยู่ในน้ำ กินแมลงหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยมักบินเข้าหาแสงไฟ เพศเมียวางไข่บนหลังเพศผู้เป็นกลุ่มยึดติดกันด้วยสารเหนียว นำมาคั่วกับเกลือกินได้, แมลงดาสวน สีเสียด แมลงสีเสียด มวนหลังไข่ หรือ มวนก้าน ก็เรียก |
เด้าดิน | ชื่อนกขนาดเล็กชนิด Actitis hypoleucos (Linn.) ในวงศ์ Scolopacidae ด้านบนลำตัวสีน้ำตาลแกมเขียว ด้านล่างลำตัวสีขาว ปีกสีออกดำมีแถบสีขาวพาด เวลาเดินมักกระดกหางขึ้นลงตลอดเวลา กินแมลงและสัตว์น้ำ. |
ตะกรุม ๑ | (-กฺรุม) น. ชื่อนกขนาดใหญ่ชนิด Leptoptilos javanicus (Horsfield) ในวงศ์ Ciconiidae รูปร่างคล้ายนกตะกราม แต่ขนาดเล็กกว่า หัวและคอสีเหลือง ไม่มีถุงหนังและพู่ขนสีขาวที่คอ กินปลาและสัตว์น้ำจืด. |
เต่าปูลู | น. ชื่อเต่าน้ำจืดชนิด Platysternon megacephalum Gray วงศ์ Platysternidae หัวโตมากและแข็งหดเข้ากระดองไม่ได้อย่างเต่าชนิดอื่น ปลายปากเป็นจะงอย กระดองหลังยาว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร หางยาวเท่ากับหรือยาวกว่ากระดองหลังเล็กน้อย อาศัยอยู่ตามลำธารบนภูเขาสูง ปีนป่ายโขดหินหรือต้นไม้เตี้ย ๆ ได้ กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ในประเทศไทยอาจพบถึง ๓ ชนิดย่อย คือ ปูลูเหนือ (P. m. megacephalum Gray), ปูลูพม่า (P. m. peguens Gray) และปูลูไทย ( P. m. vogeli Wermuth) พบทางภาคเหนือ ตอนเหนือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนเหนือของภาคตะวันตก. |
นางนวล | น. ชื่อนกขนาดกลาง วงศ์ย่อย Larinae ในวงศ์ Laridae มี ๒ กลุ่ม คือ นางนวลใหญ่ มีปลายปากเป็นปากขอเล็กน้อย ตัวใหญ่ แข็งแรง ส่วนใหญ่สีขาวเทา ปีกกว้าง ปลายหางมน กินปลาและสัตว์น้ำโดยโฉบกินตามผิวนํ้าหรือรวมฝูงกันจับขณะว่ายนํ้า ในประเทศไทยพบประมาณ ๒๐ ชนิด เช่น นางนวลธรรมดา (Larus brunnicephalus Jerdon) นางนวลขอบปีกขาว (L. ridibundusLinn.), และนางนวลแกลบ ตัวเล็กกว่านางนวลใหญ่ ปลายปากแหลม ปลายหางเว้าตื้น เว้าลึก หรือเป็นแฉก กินปลาและสัตว์นํ้าขนาดเล็กโดยดำลงไปจับเหยื่อหรือโฉบกินตามผิวนํ้า มักไม่ว่ายนํ้าเหมือนนางนวลใหญ่ มีหลายชนิด เช่น นางนวลแกลบเล็ก [ Sterna albifrons (Pallas) ] นางนวลแกลบเคราขาว [ Chlidonias hybrida (Pallas) ] นางนวลแกลบปากหนา [ Gelochelidon nilotica (Gmelin) ]. |
ปลา ๑ | (ปฺลา) น. ชื่อสัตว์น้ำเลือดเย็นมีกระดูกสันหลัง ร่างกายแบ่งเป็นส่วนหัว ลำตัว และหาง หายใจด้วยเหงือกยกเว้นปลาปอด มีครีบใช้ช่วยในการเคลื่อนไหวและทรงตัว บางชนิดมีเกล็ด บางชนิดไม่มี รูปร่างลักษณะ ขนาด และพฤติกรรมแตกต่างกันมากมาย กินทั้งพืชและสัตว์ พบในแหล่งนํ้าทั่วไป. |
ปอ ๓ | น. ชื่อแมลงอันดับย่อย Anisoptera ในอันดับ Odonata หัวและอกสั้นป้อม ส่วนท้องแคบยาว หนวดสั้นเล็กมองคล้ายขน ตาโตใหญ่ ๒ ข้างอยู่ชิดกัน ปีก ๒ คู่บางใส เส้นลายปีกเป็นร่างแห โคนปีกคู่หลังแผ่กว้าง ปีกคู่หลังใหญ่กว่าปีกคู่หน้า มีสีแตกต่างกันตามชนิด เมื่อเกาะปีกกางขนานกับพื้น ตัวอ่อนอยู่ในน้ำ กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ชนิด Crocothemis servilia (Drury) ในวงศ์ Libellulidae, แมลงปอ ก็เรียก. |
ปูเล ๒ | น. วิธีการจับสัตว์น้ำอย่างหนึ่ง โดยใช้ผ้าหนา ๆ ห่อทรายม้วนเป็นลำยาวแล้วใช้คนประมาณ ๑๐ คนดันผ้าไปตามหาดทรายหรือชายตลิ่งตื้น ๆ เพื่อต้อนปลาขึ้นไปบนฝั่ง. |
เป็ดน้ำ | น. ชื่อนกน้ำขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่หลายชนิด ในวงศ์ Anatidae และ Dendrocygnidae ปากแบน มีพังผืดนิ้วแบบตีนพัด ว่ายน้ำเก่ง บางชนิดดำน้ำได้ บินได้เร็ว มักอยู่เป็นฝูง ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้มักมีขนสีสวยกว่าตัวเมีย แต่นอกฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้มีอาจสีสันเหมือนหรือคล้ายตัวเมีย กินพืชและสัตว์น้ำ, ในวงศ์ Anatidae เช่น เป็ดหอมหรือเป็ดหางแหลม ( Anas acutaLinn.) เป็ดแมนดาริน [ Aix galericulata (Linn.) ] เป็ดคับแค [ Nettapus coromandelianus (Gmelin) ] เป็ดดำหัวดำ [ Aythya baeri (Radde) ] และ ในวงศ์ Dendrocygnidae คือ เป็ดแดง [ Dendrocygna javanica (Horsfield) ]. |
โป่งวิด | น. ชื่อนกขนาดเล็กชนิด Rostratula benghalensis (Linn.) ในวงศ์ Rostratulidae ลักษณะทั่วไปคล้ายนกปากซ่อม ปากยาวแหลม วงรอบเบ้าตาและหางตาสีขาว ตัวสีนํ้าตาลลาย ตัวเมียมีขนาดใหญ่และสีเข้มสวยกว่าตัวผู้ เมื่อออกไข่จะปล่อยให้ตัวผู้ฟักไข่ตามลำพัง ทำรังเป็นแอ่งบนพื้นดิน อาศัยอยู่ตามท้องทุ่งที่แฉะ ๆ กินแมลงและสัตว์น้ำขนาดเล็ก. |
ผีเสื้อ ๒ | น. ชื่อปลาทะเลทุกชนิดในวงศ์ Chaetodontidae ยกเว้นปลาโนรี ( Heniochusspp.) ลำตัวสั้น กว้าง แบนข้างมาก ปากเล็ก บางชนิดปากยื่นยาวเป็นท่ออยู่ปลายสุดของหัว มีเกล็ดหนามคลุมถึงบนครีบหลัง ครีบก้น และครีบหาง สีสวยสด แตกต่างกันตามชนิด มักเป็นบั้ง แถบ หรือจุดคละกันหลายสี อาศัยอยู่ตามแนวหินปะการัง กินสัตว์น้ำขนาดเล็กหรือสาหร่าย ขนาดยาวตั้งแต่ ๑๐-๓๐ เซนติเมตร มีการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม. |
พริก ๒ | (พฺริก) น. ชื่อนกขนาดเล็กชนิด Metopidius indicus (Latham) ในวงศ์ Jacanidae ปากสีเหลือง หางตาสีขาว ตัวสีนํ้าตาลเป็นมันวาว นิ้วตีนยาวมากสำหรับพาดเดินบนพืชนํ้า บินไม่ค่อยเก่ง ทำรังบนพืชน้ำ กินพืชนํ้า แมลง และสัตว์น้ำขนาดเล็ก. |
แมงแงว | น. ชื่อสัตว์น้ำขาปล้องหลายชนิด หลายสกุล ในวงศ์ Streptocephalidae ขนาดยาว ๑.๘ เซนติเมตร ลักษณะทั่วไปคล้ายไรน้ำเค็ม ลำตัวใส มีถุงไข่ที่ท้อง ๑ ถุง ไข่จม กินสาหร่าย พบตามแหล่งน้ำจืดโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนเขตภูเขาในจังหวัดขอนแก่น หนองบัวลำภู หนองคาย นำมาใช้ปรุงอาหาร เช่น แกงอ่อมหรือห่อหมก ตามธรรมชาติเป็นอาหารของสัตว์น้ำ ที่พบบ่อย เช่น ชนิด Streptocephalus sirindhornae Sanoamuang, Murugan, Weekers & Dumont. ซึ่งมีหางสีแดงเข้ม, แมงหางแดง แมงอ่อนช้อย หรือ ไรน้ำจืด ก็เรียก. |
แมวน้ำ | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในวงศ์ Phocidae ไม่มีใบหู และในวงศ์ Otaliidae มีใบหู ทั้ง ๒ วงศ์ รูปร่างอ้วนใหญ่ มีหนวดคล้ายแมว ขาคล้ายพาย คู่หน้าสั้น คู่หลังลู่ไปตามลำตัว ใช้ว่ายน้ำและคืบคลานหรือกลิ้งตัวไปตามพื้นได้ดี หางเป็นติ่ง อาศัยอยู่ตามชายฝั่งในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว กินปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ชนิดที่แพร่หลาย คือ ชนิด Phoca vitulina (Linn.). |
ยางโทน | น. ชื่อนกยางขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ในวงศ์ Ardeidae ลำตัวสีขาว ทำรังแบบง่าย ๆ ด้วยกิ่งไม้บนต้นไม้ กินปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ในประเทศไทยมี ๒ ชนิด คือ ยางโทนใหญ่ [ Egretta alba (Linn.) ] ตัวขนาดใหญ่ ช่วงฤดูผสมพันธุ์ปากสีดำ นอกฤดูผสมพันธุ์ปากสีเหลือง และยางโทนน้อย [ E. intermedia (Wagler) ] ตัวขนาดกลาง ปากสีเหลืองตอนปลายดำ. |
เรือผีหลอก | น. เรือแจวชนิดหนึ่ง สำหรับจับสัตว์น้ำในลำคลองและลำน้ำในเวลากลางคืน กราบเรือทางขวาติดแผ่นกระดานทาสีขาวปล่อยริมข้างหนึ่งให้ลงน้ำ กราบซ้ายมีตาข่ายกันมิให้ปลาและกุ้งกระโดดข้าม ปลาตกใจจะกระโดดเข้ามาหาเรือเอง. |
ไรน้ำ | น. ชื่อสัตว์น้ำขาปล้องหลายชนิดหลายวงศ์ ในอันดับ cladocera รูปร่างแตกต่างกันไป โดยทั่วไปลำตัวกลมคล้ายไข่ ขนาดยาว ๐.๔-๑.๘ มิลลิเมตร มีแผ่นเปลือกคลุมประกบซ้ายขวา ท้ายสุดของส่วนท้องเป็นหนามแหลมยื่นและแยกเป็น ๒ แฉก ปากเล็ก กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก พบตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น ไรแดง [ Moina macrocopa (Straus) ] ในวงศ์ Daphnidae ไรน้ำกร่อย (Diaphanosomaspp.) ในวงศ์ Sididae, ลูกไร ก็เรียก. |
ไรน้ำเค็ม | น. ชื่อสัตว์น้ำเค็มขาปล้องหลายชนิด ในสกุล Artemiaวงศ์ Artemiidae ขนาดยาว ๒ เซนติเมตรหรือมากกว่า รยางค์อกมี ๑๑ คู่ แต่ละคู่มีเหงือก เพศผู้มีอวัยวะเพศที่ปล้องท้องปล้องที่ ๑ และ ๒ เพศเมียมีรังไข่ ๑ คู่ที่ปล้องอกปล้องท้าย ๆ สืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ กินตะไคร่น้ำเป็นส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ได้ในทุกระดับความเค็ม พบทั่วโลก นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อเพาะเลี้ยงเป็นอาหารของสัตว์น้ำ เช่น ชนิด A. franciscanaKellogg, ไรสีน้ำตาล หรือ อาร์ทีเมีย ก็เรียก. |
สะตือ ๒ | น. ชื่อปลานํ้าจืดชนิด Chitala Lopsis (Bleeker) ในวงศ์ Notopteridae รูปร่างคล้ายปลากราย แต่ไม่มีจุดดำเด่น มีจุดสีนํ้าตาลกระจายอยู่ทั่วตัว กินสัตว์น้ำขนาดเล็กในเวลากลางคืน พบทั่วไปแต่เป็นปลาหายาก ขนาดยาวได้ถึง ๑.๕ เมตร. |
สิงโตทะเล | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในวงศ์ Otariidae มีใบหู มีหนวดเป็นเส้นหนาอยู่เหนือริมฝีปากบน ส่วนที่อยู่ตรงกลางสั้น สองข้างค่อนข้างยาว มีเขี้ยวยาวโค้งเล็กน้อยปลายแหลม ลำคอยาว ขาไม่มีขนปกคลุม นิ้วไม่มีเล็บ ขาคู่หน้ายาวแบนคล้ายใบพายและโบกไปมาช่วยในการยันตัวและว่ายน้ำ ขาคู่หลังสั้นตีนแบนช่วยในการเคลื่อนตัว กินปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ในเขตหนาว อาศัยอยู่ตามริมฝั่งทะเล มีหลายชนิด เช่น ชนิด Zalophus californianus (Lesson), Otaria byronia (Peters). |
หัวโต | ชื่อนกขนาดเล็กถึงขนาดกลางหลายชนิด วงศ์ย่อย charadriinae ในวงศ์ Charadriidae และวงศ์ย่อย Dromadinae ในวงศ์ Glareolidae หัวใหญ่ แต่ละชนิดมีสีแตกต่างกัน ทำรังเป็นแอ่งตามพื้นทราย วงศ์ย่อยแรก ปากสั้น คอสั้น ปีกกว้าง ปลายปีกมน ขาสั้น ไม่มีนิ้วหลัง หากินตามชายน้ำ กินสัตว์น้ำและแมลง เช่น หัวโตหลังจุดสีทอง [ Pluvialis fulva (Gmelin) ] หัวโตเล็กขาเหลือง (Charadrius dubius Scopoli) หัวโตทรายเล็ก (C. mongolus Pallas) วงศ์ย่อยหลัง คือ หัวโตกินปู (Dromas ordeola Paykull) ปากยาว แบนข้าง ขายาว มีนิ้วหลังโคนนิ้วมีพังผืด หากินตามชายน้ำและบริเวณน้ำตื้น กินสัตว์น้ำโดยเฉพาะปู. |
ห่าน | น. ชื่อนกจำพวกเป็ดขนาดใหญ่หลายชนิด วงศ์ย่อย Anatinae ในวงศ์ Anatidae คอยาวกว่าคอเป็ดแต่สั้นกว่าคอหงส์ ทำรังบนพื้นดิน กินพืชและสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ห่านหัวลาย [ Anser indicus (Latham) ] เฉพาะห่านที่เลี้ยงตามบ้านที่ต้นตระกูลมาจากห่านเทาปากสีชมพู (A. anser Linn.). |
เห็บปลา | น. ชื่อสัตว์น้ำขาปล้องหลายชนิด ในวงศ์ Argulidae เมื่อโตขึ้นเกาะติดตามหัว ลำตัว เหงือก และครีบของปลา ขนาดยาว ๔-๑๑ มิลลิเมตร ลำตัวกลมใส แบน โค้งคว่ำ มีแผ่นแข็งคลุมส่วนหัวและอกซึ่งเชื่อมติดกัน ส่วนอกมีขา ๔ คู่ ใช้ว่ายน้ำ ส่วนท้องแบนเล็กและสั้น ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ด้านล่างบริเวณหัวมีอวัยวะเป็นรูปถ้วย ๑ คู่ ใช้เกาะกับปลา ปากเป็นชนิดแทงดูด กินเลือดและของเหลวจากปลา ที่พบบ่อยในน้ำจืด เช่น ชนิด Argulus indicus Weber, A. siamensis Wilson ที่พบในทะเล เช่น ชนิด A. alosae Gould, เห็บน้ำ ก็เรียก. |
เหาน้ำ | น. ชื่อสัตว์ขาปล้องหลายชนิด หลายสกุล หลายวงศ์ ในอันดับ Isopoda ที่เป็นปรสิตของสัตว์น้ำ ส่วนใหญ่ลำตัวยาวรีค่อนข้างแบน ที่สำคัญคือ มีหนวด ๒ คู่ และมีตาแบบไม่มีก้านตา ส่วนอกมี ๗ ปล้อง แต่ละปล้องมีรยางค์คล้ายขา ๑ คู่ ส่วนท้องมี ๖ ปล้อง มีรยางค์ว่ายน้ำ ๕ คู่ ลำตัวมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ ๕-๒๕ มิลลิเมตร และมีสีแตกต่างกัน เช่น นวล น้ำตาล ดำ ปากเป็นชนิดแทงดูด พบเกาะสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น ปลา กุ้ง ปู ที่พบในน้ำจืด เช่น ในสกุล Alitropus วงศ์ Aegidae, ในน้ำเค็ม เช่น ในสกุล Livonecaวงศ์ Cymothoidae. |
อวนรุน | น. อวนที่มีลักษณะคล้ายถุง ปากอวนประกอบกับคันรุน ติดตั้งบริเวณหัวเรือ รุนเคลื่อนที่ไปพร้อมกับเรืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สัตว์น้ำที่อยู่ด้านหน้าปากอวนเข้ามาติดอยู่ที่ก้นถุงอวน ใช้ทำการประมงในระดับน้ำลึกไม่เกิน ๑๕ เมตร. |
อีก๋อย | น. ชื่อนกขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่หลายชนิด ในวงศ์ Scolopacidae ปากยาวโค้งปลายแหลม ตัวสีนํ้าตาลเทาลายดำ ขาค่อนข้างยาว อยู่เป็นฝูงตามชายเลน ชายหาด หรือ ชายน้ำ กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น อีก๋อยจิ๋ว ( Numenius minutus Gould) อีก๋อยใหญ่ [ N. arquata (Linn.) ] อีก๋อยเล็ก [ N. phaeopus (Linn.) ]. |
อีลุ้ม ๑ | น. ชื่อนกขนาดกลางชนิด Gallicrex cinerea (Gmelin) ในวงศ์ Rallidae ขาค่อนข้างยาว นิ้วยาว ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้สีน้ำตาลอมดำ กะบังหน้าผากสีแดง ตัวเมียสีนํ้าตาล ไม่มีกะบัง นอกฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้และตัวเมียมีสีขนคล้ายกันเป็นสีน้ำตาล อาศัยและหากินตามทุ่งนาและแหล่งน้ำทุกภาค ทำรังตามซุ้มกอหญ้า กินพืชและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ. |