รามเกียรติ์ | (รามมะเกียน) น. ชื่อวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยพระรามทำศึกกับทศกัณฐ์เพื่อชิงนางสีดา. |
กระโจม ๔ | ก. โถมเข้าไป เช่น ไม่ได้ทีอย่ากระโจมเข้าโรมรัน (รามเกียรติ์ ร. ๒) |
กระชิด ๑ | ว. ชิดทีเดียว เช่น ว่องไวไล่กระชิดติดพัน (รามเกียรติ์ ร. ๒). |
กระเซอ | ว. เซ่อเซอะ, เร่อร่า, เช่น ผัวเขาจริง ๆ วิ่งกระเซอ (รามเกียรติ์ พลเสพย์), นิยมใช้เข้าคู่กับคำ กระเซอะ เป็น กระเซอะกระเซอ. |
กระดาก ๒ | ก. กระเดาะ, กระดก, เช่น สิ้นทั้งพันปากกระดากลิ้น, สิบปากกระดากลิ้นเคี้ยวฟัน (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
กระบี่ ๑ | น. ลิง เช่น ขุนกระบี่มีกำลังโดดโลดโผน กระโจมโจนจับยักษ์หักแขนขา (รามเกียรติ์ ร. ๒). |
กระษิร | (-สิน, -สิระ) น. กษีร, นํ้านม, เช่น มาจากวารินกระษิรสมุทร (รามเกียรติ์ ร. ๒), กระษิรสินธุสาคร (สรรพสิทธิ์). |
กระหยับ | ก. ขยับ เช่น มือถือธนูกระหยับลั่น (รามเกียรติ์ ร. ๑; ไกรทอง; สรรพสิทธิ์). |
กระเห็น | น. อีเห็น เช่น กระเห็นเห็นกันแล้ววิ่งมา (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
กระแหย่ง | (-แหฺย่ง) ก. คะยั้นคะยอ เช่น มาหยักเหยาเซ้าซี้กระแหย่งชาย (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
กลาย | (กฺลาย) ก. เปลี่ยนไป, แปรปรวนไป, เช่น หน้าหนาวกลายเป็นหน้าร้อน, เป็นอื่นไป, แปลงไป, เช่น ศรกลายเป็นทิพย์กระยาหาร เปรี้ยวหวานตกลงตรงหน้า (รามเกียรติ์ ร. ๒), (โบ; กลอน) ใช้ในความว่า กราย ก็มี เช่น ไปกลายบ๋านชองตนกดี (จารึกสยาม), จักเจริญสวัสดิภาพศักดิศรี ศัตรูไพรี บห่อนจะใกล้กลายตน (โชค–โบราณ). |
กันทะ | น. กระทะ เช่น จึ่งตั้งโลหะกันทะโดยตบะบนเส้าโขมดผี ให้ประโคมแล้วโหมอัคคี มาลีธูปเทียนบูชา (รามเกียรติ์ ร. ๒ ตอนศึกไมยราพณ์). |
กัมพู | ทอง เช่น กัมพูหุ้มพู่พรรณจามรี (บุณโณวาท), ทองสุคนธ์ปนสุวรรณ์กัมพู (รามเกียรติ์ ร. ๒), (โบ) เขียนเป็น กำพู หรือ กำภู ก็มี. |
กัลปพฤกษ์ ๑ | ใช้ว่า กำมพฤกษ์ ก็มี เช่น พวกประจำกำมพฤกษ์บังคมไหว้ (รามเกียรติ์ ร. ๒). |
กำมพฤกษ์ | (-มะพฺรึก) น. กัลปพฤกษ์ เช่น พวกประจำกำมพฤกษ์บังคมไหว้ (รามเกียรติ์ ร. ๒). |
กุมภนิยา | น. ชื่อพิธีชุบศรพรหมาสตร์ของอินทรชิตในเรื่องรามเกียรติ์. |
กุลาหล | (-หน) ว. โกลาหล เช่น สนั่นครั่นครื้นกุลาหล (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
เกราะ ๔ | (เกฺราะ) ก. พูดเลียบเคียง เช่น อย่าคำเพราะเกราะกล่าวเจรจา (รามเกียรติ์ ร. ๑), เขียนเป็น เกลาะ ก็มี เช่น ใช่จะแกล้งกล่าวเกลาะให้เพราะพริ้ง (อิเหนา). |
เกลาะ | (เกฺลาะ) ก. พูดเลียบเคียง เช่น ใช่จะแกล้งกล่าวเกลาะให้เพราะพริ้ง (อิเหนา), เขียนเป็น เกราะ ก็มี เช่น อย่าคำเพราะเกราะกล่าวเจรจา (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
โกปินำ | น. ผ้าปิดของลับ เช่น แล้วเกี่ยวรัดโกปินำ (รามเกียรติ์ ร. ๑). (ป. โกปิน). |
ขี้จาบ | ว. หยาบคาย เช่น ชาติอ้ายขี้จาบปราบเพื่อนบ้าน (รามเกียรติ์ พลเสพย์). |
โขน ๑ | น. การเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ มักเล่นเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวจำลองต่าง ๆ ที่เรียกว่า หัวโขน. |
เคล่าคล่อง | (เคฺล่าคฺล่อง) ก. แคล่วคล่อง เช่น หลบหลีกเคล่าคล่องทำนองยุทธ (รามเกียรติ์ ร. ๒). |
เคี่ยว | ก. ต้มให้เดือดนาน ๆ เพื่อให้งวด ข้น หรือเปื่อยเป็นต้น, โดยปริยายหมายความว่า รํ่าไป, ไม่หยุดหย่อน, เช่น อันซึ่งพระรามฤทธิรงค์ มาเคี่ยวฆ่าวงศ์ยักษี (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
จู่โจม | ก. ตรงเข้าไปถึงตัวอย่างรวดเร็ว เช่น สกัดกั้นทันนางกลางโพยม จู่โจมจับเป็นไม่เข่นฆ่า (รามเกียรติ์ ร. ๒ ตอนนางลอย) |
ชิวงคต, ชีวงคต | ก. ตาย เช่น มาตรแม้นพระองค์ชีวงคต โอรสจะม้วยสังขาร์ (รามเกียรติ์ ร. ๒). |
ชีวาลัย | น. ชีวิต เช่น ก็สิ้นชีวาลัยไปเมืองฟ้า (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
ชุบ | ทำให้เป็นคนขึ้นมา เช่น อันรูปซึ่งชุบในอัคคี มีนามชื่อลบอนุชา (รามเกียรติ์ ร. ๑) |
ดัดดั้น | ก. ตัดทางไป, ลัดทางไป, เช่น ก็รีบลัดดัดดั้นตามไป (อิเหนา), ดั้นดัด ก็ใช้ เช่น ดั้นดัดลัดพงดงดาน (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
ดั้น ๑ | ก. มุ่งหน้าฝ่าไป เช่น ดั้นหมอกออกเมฆด้วยฤทธิไกร ผ่านพิชัยขีดขินบูรินมา (รามเกียรติ์ ร. ๑), มักใช้เข้าคู่กับคำ ด้น เป็น ดั้นด้น หรือ ด้นดั้น. |
ต้นเรื่อง | น. มูลเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องนั้น ๆ, เรื่องเดิม, เรื่องก่อนที่จะเริ่มเรื่องที่แต่ง, เช่น เรื่องนนทุกเป็นต้นเรื่องรามเกียรติ์. |
ต่อ ๘ | ก. รบ เช่น ซึ่งเจ้ามาต่อด้วยพ่อได้ (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
ติงทุเลา | ก. ถ่วงเวลา, แย้งขอให้ระงับไว้ก่อน, เช่น แลอั้นคำค้านเสียมิได้ถามพญาณ แลอั้นคำท้วงติงทุเลาเสีย (สามดวง พระธรรมนูน), ครั้นว่าพี่มีคำติงทุเลา ช่างกระไรไม่เอาสักอย่าง (รามเกียรติ์ ร. ๒). |
เตรน | (เตฺรน) ก. เตร็ดเตร่ เช่น เที่ยวเตรนตระเวนหาคู่ (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
เตริง | (เตฺริง) ก. เหลิง เช่น กระทิงเที่ยวเตริงพนาลี (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
เตียว ๑ | น. เรียกพลลิงจำพวกหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ที่ใช้ผ้าตะบิดโพกศีรษะ ว่า เตียวเพชร |
แตระ | (แตฺระ) ก. กรีด เช่น แล้วลงตามลำไส้ด้วยไวว่อง เอาตรีแตระแหวะท้องยักษี (รามเกียรติ์ ร. ๒) |
ไตรจักร | (-จัก) น. โลกทั้ง ๓ คือ สวรรค์ มนุษยโลก บาดาล เช่น จึ่งจับศรจันทวาทิตย์ อันเรืองฤทธิ์ปราบทั่วทั้งไตรจักร (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
ทศกัณฐ์ | น. “ผู้มีสิบคอ” คือ ท้าวราพณ์ในเรื่องรามเกียรติ์. |
ทองปราย | น. ปืนคาบศิลาอย่างโบราณ ลำกล้องทำด้วยทองเหลือง ปากบาน ยิงด้วยกระสุนลูกปราย เช่น ล้วนถือทองปรายทุกคน (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
นักงาน | น. หน้าที่ เช่น อันการสงครามครั้งนี้ ไว้นักงานพี่จะช่วยหัก (รามเกียรติ์ ร. ๑), เจ้าพนักงาน เช่น เหวยนักงานเอ๋ย เร่งรุกเร็วบัดนี้พลัน จงแสดงทุกข์แห่งโอรส ให้ปรากฏโดยคดี ว่าบัดนี้หมู่สีพีลงโทษ โกรธจอมธรรม์ (ม. คำหลวง หิมพานต์). |
นี่นัน | ว. อึงมี่, อึกทึก, เช่น จึงดำรัสตรัสชวนอนุชา ลงจากพลับพลาผายผัน พร้อมพวกกระบี่นี่นัน จรจรัลไปยังฝั่งนที (ตับเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย). |
เนรกัณฐี | (เนระกันถี) น. แก้วมณีสีเขียว, บางทีเขียนเป็น เนระกันถี หรือ เนียรกัณฐี ก็มี เช่น กับหินอย่างดีสีเขียวเรียกชื่อว่าเนระกันถี (สยามประเภท), ดังมรกตนิลเนียรกัณฐี (รามเกียรติ์ ร. ๒). |
แน่นนันต์ | ว. มากมาย, อัดแอ, คับคั่ง, ยัดเยียด, เช่น กรุงกษัตริย์มาพร้อมประชุมกัน แน่นนันต์ในพระลานชัยศรี (รามเกียรติ์ ร. ๑). |
บ่อเกิด | น. แหล่งที่เกิด, แหล่งที่มา, ต้นกำเนิด, เช่น บ่อเกิดวัฒนธรรม บ่อเกิดรามเกียรติ์. |
บ้าระบุ่น | น. นกปรอด เช่น เค้าโมงขมิ้นบ่าวขุน บ้าระบุ่นโกญจากระทาขัน (รามเกียรติ์ ร. ๑), โบราณเขียนเป็น บารบุน ก็มี เช่น จินโจ้กระจาบเวียน บารบุนและเบญจวรรณ (บุณโณวาท). |
พักร | (พัก) ก. ย้อน, ถอยหลัง, เช่น ดาวนพเคราะห์เดินย้อนราศีเรียกว่า พักร (รามเกียรติ์ ร. ๒). |
มหาภารตะ | (มะหาพาระตะ) น. ชื่อบทประพันธ์มหากาพย์เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของอินเดีย, คู่กับ รามายณ คือ รามเกียรติ์. |
มิหนำซ้ำ | ว. เท่านี้ยังไม่เพียงพอ, หนักยิ่งไปกว่านั้นอีก, เช่น ตัดเท้าตัดกรแล้วมิหนำ ซ้ำฆ่าสุริย์วงศ์ยักษี (รามเกียรติ์). |
ราม ๒ | น. ชื่อตัวเอกในเรื่องรามเกียรติ์. |