พระราชพิธี | น. พิธีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดไว้ตามราชประเพณี เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี. |
กรงทอง | น. เรียกกรงที่ใช้กั้นพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้า ว่า พระกรงทอง. |
กรรภิรมย์ | (กัน-) น. ฉัตร ๕ ชั้นและ ๗ ชั้น สำรับหนึ่งมี ๓ องค์ คือ พระเสมาธิปัต พระฉัตรชัย พระเกาวพ่ายหรือพระเกาวพ่าห์ ทำด้วยผ้าขาวลงยันต์เส้นเขียนทอง เป็นเครื่องสูงอันเป็นสิริมงคลยิ่งสำหรับพระมหากษัตริย์ ใช้กางเชิญนำพระราชยานเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ และใช้เข้าพิธีคชกรรมนำช้างสำคัญขึ้นจากแพเข้าสู่โรงสมโภช หรือใช้ผูกเสาพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีใหญ่, เขียนเป็น กรรม์ภิรมย์ กันภิรมย์ หรือ กันพิรุณ ก็มี. |
กระยาสนาน | น. เครื่องสรงในพระราชพิธีสรงพระมุรธาภิเษก. |
กลีบลำดวน | ชื่อหมวกแบบโบราณอย่างหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายโอคว่ำ ทำด้วยผ้า ริมหมวกประดับด้วยผ้าตัดเย็บเป็นกลีบคล้ายกลีบดอกลำดวนโดยรอบ บนยอดหมวกติดลูกกลมคล้ายลูกแก้วหุ้มผ้า พื้นหมวกมีทั้งสีแดงและสีเขียว สำหรับพนักงานกรมกลองชนะสวมสำหรับงานราชพิธี เรียกว่า หมวกกลีบลำดวน. |
กาญจนาภิเษก | น. พระราชพิธีที่พระเจ้าแผ่นดินกระทำเมื่อครองราชสมบัติได้ ๕๐ ปี. |
กุลาตีไม้, กุลาตีอก | น. การเล่นชนิดหนึ่งในงานพระราชพิธี. |
เขียง | กระทงจำลองสร้างไว้บนบกสำหรับฝึกฝีพายที่พายเรือพระราชพิธี. |
เคณฑะ | (เคนทะ) น. ลูกข่าง, ใช้ในคำว่า พระราชพิธีเคณฑะ คือ พระราชพิธีทิ้งข่าง. |
เครื่องต้น | น. เครื่องทรงสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีบรม-ราชาภิเษก, เรียกเต็มว่า ฉลองพระองค์เครื่องต้น, เครื่องทรงสำหรับพระพุทธรูป ซึ่งมีลักษณะอย่างเครื่องทรงพระเจ้าจักรพรรดิ เช่น พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม |
เครื่องทองทิศ | น. เครื่องบูชาชนิดหนึ่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้บูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีใหญ่ มีเตียงทองตั้งซ้อนกัน ๒ เตียง เชิงเทียนแถวหนึ่ง ๕ เชิง เชิงธูปแถวหนึ่ง ๕ เชิง พานข้าวตอกแถวหนึ่ง ๕ พาน พานดอกไม้แถวหนึ่ง ๕ พาน เรียกเต็มว่า เครื่องนมัสการทองทิศ. |
โคมดอกไม้ | น. โคมที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยนำดอกไม้มาร้อยกรองให้มีรูปร่างอย่างโคมสำหรับแขวนในเทศกาลหรืองานพระราชพิธีบางอย่าง. |
จรดพระกรรไกรกรรบิด, จรดพระกรรไตรกรรบิด | ก. ใช้กรรไกรขริบปอยผมเล็กน้อย เป็นการเริ่มในพระราชพิธีโสกันต์และเกศากันต์. |
จรดพระนังคัล | ก. จดผาลคันไถลงดินเพื่อไถนาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ. |
ฉัตรมงคล | (ฉัดตฺระ-, ฉัดมงคล) น. พระราชพิธีฉลองพระมหาเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก. |
ฉากบังเพลิง | น. เครื่องกั้นในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ บนพระเมรุมาศหรือพระเมรุ เพื่อบังมิให้ไฟลุกลามขณะถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ มีลักษณะเป็นฉากพับได้ที่ติดไว้กับเสาเมรุทั้ง ๔ ด้าน เมื่อจะใช้งานจึงดึงหรือยกมาปิดไว้. |
ชทึง | (ชะ-) น. แม่นํ้า เช่น ชลชทึงบึงบาง (ประกาศพระราชพิธี), ใช้ว่า จทึง ฉทึง ชรทึง สทิง สทึง หรือ สรทึง ก็มี. |
ช้าลูกหลวง | น. การขับกล่อมพระราชโอรสพระราชธิดาในพระราชพิธีสมโภชขึ้นพระอู่. |
ช้างยืนแท่น | น. เรียกช้างสำคัญที่ผูกเครื่องพระคชาธารยืนบนแท่นในงานพระราชพิธี ว่า ช้างยืนแท่น. |
ชาวม่าน | น. เจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ไขพระวิสูตรท้องพระโรงในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ. |
ชุมสาย | เรียกพระที่นั่งที่มีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม มีเสา ๔ ต้น หลังคาคาดด้วยผ้าขาว มีระบาย ๓ ชั้น คลุมด้วยตาข่าย มีพู่ห้อยที่ระบายชั้นล่าง ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ว่า พระที่นั่งชุมสาย พระที่นั่งนี้สามารถถอดเก็บและเคลื่อนย้ายไปประกอบได้ใหม่เมื่อต้องการ. |
แช่งน้ำ | น. พิธีทำนํ้าให้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับดื่มปฏิญาณตนในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา. |
ตำรวจหลวง | น. ข้าราชการในพระองค์ แต่งเครื่องแบบ สวมเสื้อนอก คอปิด กระดุม ๕ เม็ด นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน (หากแต่งเครื่องเต็มยศนุ่งผ้าม่วงเชิงมีลายดิ้นเงิน สวมเสื้อนอกคอตั้งสีม่วงเทา) สะพายกระบี่ สวมหมวกทรงประพาส มีหน้าที่รักษาพระองค์พระมหากษัตริย์และพระราชินี ณ ที่ประทับ และนำเสด็จเป็นชุดตามพระเกียรติยศในงานพระราชพิธีและพิธีด้วย เดิมเรียกว่า พระตำรวจหลวง. |
แตรงอน | น. แตรมีลักษณะปลายบานและโค้งงอน ใช้ในงานพระราชพิธี |
แตรฝรั่ง | น. เครื่องเป่าชนิดหนึ่งของชาวตะวันตก ทำด้วยโลหะ ใช้ลมเป็นต้นกำเนิดของเสียง มีหลายลักษณะ ใช้เป่าในงานพระราชพิธี มีผ้าของหมู่ทหารห้อยเป็นที่สังเกต, แตรลำโพง ก็เรียก. |
ทวีธาภิเษก | น. พระราชพิธีสมโภชเมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงครองราชสมบัติยืนนานมาเป็น ๒ เท่าของรัชกาลที่ ๔, เรียกเหรียญที่จัดทำขึ้นเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีนี้ ว่า เหรียญทวีธาภิเษก. |
เทพทัณฑ์ | (เทบพะ-) น. ไม้มีปลายพันผ้าสำหรับชุบนํ้ามันจุดไฟในพระราชพิธีกัตติเกยา. |
เทาะห์ | ก. เผา เช่น ธานยเทาะห์ ชื่อพระราชพิธีเผาฟางและซังข้าวเพื่อกันอุบาทว์จัญไร ทำในเดือน ๓ (นางนพมาศ). |
ธงกระบี่ธุช | น. ชื่อธงมีลักษณะเป็นธงสามชาย ๓ ผืน ผืนธงทำด้วยผ้าปักไหมทองเป็นลวดลายเครือกระหนก สอดร่วมอยู่ในคันธงเดียวกันซึ่งเป็นเหล็กและทำเป็นกิ่งแยกจากคันกลางทางด้านซ้ายและด้านขวา ปลายคันธงเป็นรูปใบหอก ที่โคนคันธงตรงส่วนสวมต่อกับคันธงท่อนล่างติดรูปหนุมานในท่ายืนยกขาหน้าและขาหลังข้างขวาเตรียมเหาะ เรียกเต็มว่า ธงชัยราชกระบี่ธุช หรือ ธงชัยราชกระบี่ธุชใหญ่ ใช้เชิญนำหน้าพระราชยานในกระบวนพยุหยาตรา และเชิญประดิษฐานในพิธีมณฑลในการพระราชพิธีต่าง ๆ เข้าคู่กับธงพระครุฑพ่าห์ โดยธงกระบี่ธุชอยู่ทางด้านซ้าย และธงพระครุฑพ่าห์อยู่ทางด้านขวา. |
ธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อย | น. ชื่อธงมีลักษณะเป็นผ้าสีเหลืองรูปสี่เหลี่ยม มีภาพครุฑที่กลางผืนธง คันธงท่อนบนทำด้วยเหล็ก ยอดเรียวแหลมคร่ำทอง ท่อนล่างทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ติดกาบโลหะจำหลักเป็นภาพครุฑจับนาคจำนวน ๔ กาบ มีหางนกยูงผูกเป็นแพนเสียบที่กาบ ใช้เชิญนำกระบวนพยุหยาตรา และเชิญประดิษฐานในพิธีมณฑลในการพระราชพิธีต่าง ๆ เป็นต้น เข้าคู่กับ ธงชัยราชกระบี่ธุชน้อย หรือ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ โดยธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อยอยู่ทางด้านขวาของประธานในงาน และธงชัยราชกระบี่ธุชน้อยหรือธงชัยราชกระบี่ยุทธอยู่ทางด้านซ้าย. |
ธงชัยราชกระบี่ธุช, ธงชัยราชกระบี่ธุชใหญ่ | น. ชื่อธงมีลักษณะเป็นธงสามชาย ๓ ผืน ผืนธงทำด้วยผ้าปักไหมทองเป็นลวดลายเครือกระหนก สอดร่วมอยู่ในคันธงเดียวกันซึ่งเป็นเหล็กและทำเป็นกิ่งแยกจากคันกลางทางด้านซ้ายและด้านขวา ปลายคันธงทำเป็นรูปใบหอก ที่โคนคันธงตรงส่วนสวมต่อคันธงท่อนล่างติดรูปหนุมานในท่ายืนยกขาหน้าและขาหลังข้างขวาเตรียมเหาะ ใช้เชิญนำหน้าพระราชยานในกระบวนพยุหยาตรา และเชิญประดิษฐานในพิธีมณฑลในการพระราชพิธีต่าง ๆ เข้าคู่กับธงพระครุฑพ่าห์ โดยธงกระบี่ธุชอยู่ทางด้านซ้าย และธงพระครุฑพ่าห์อยู่ทางด้านขวา. |
ธงชัยราชกระบี่ธุชน้อย | น. ชื่อธงมีลักษณะเป็นผ้าสีแดงรูปสี่เหลี่ยม มีภาพพระกระบี่คือหนุมานที่กลางผืนธง คันธงท่อนบนทำด้วยเหล็ก ยอดเรียวแหลมคร่ำทอง ท่อนล่างทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ติดกาบโลหะจำหลักเป็นภาพหนุมานจำนวน ๔ กาบ มีหางนกยูงเป็นแพนเสียบที่แผ่นกาบ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ธงชัยราชกระบี่ยุทธ ใช้เชิญนำกระบวนพยุหยาตรา และเชิญประดิษฐานในพิธีมณฑลในการพระราชพิธีต่าง ๆ เป็นต้น เข้าคู่กับ ธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อย โดยธงชัยราชกระบี่ธุชน้อยอยู่ทางด้านซ้ายของประธานในงาน และธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อยอยู่ทางด้านขวา. |
ธงสามชาย | น. ธงรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก ปลายธงมี ๓ แฉก เป็น ๓ ชายลดหลั่นกัน มักใช้นำริ้วกระบวน ถ้าใช้เข้ากระบวนแห่ในพระราชพิธี ผืนธงทำด้วยผ้าสักหลาดสอดสีปักดิ้นหักทองขวางเป็นลวดลาย. |
นางแต่งตัวสะ | น. หญิงสาววัยรุ่นแต่งตัวใส่เกี้ยว นุ่งผ้าลายพื้นเขียว ห่มผ้าแพรพื้นแดง เดินประนมมือตามกระบวนแห่เต็มยศขนาบพระราชยานในพระราชพิธีโสกันต์, นางสะ หรือ สาวสะ ก็เรียก. |
นางสะ | น. หญิงสาววัยรุ่นแต่งตัวใส่เกี้ยว นุ่งผ้าลายพื้นเขียว ห่มผ้าแพรพื้นแดง เดินประนมมือตามกระบวนแห่เต็มยศขนาบพระราชยานในพระราชพิธีโสกันต์, นางแต่งตัวสะ หรือ สาวสะ ก็เรียก. |
นาลิวัน | น. พราหมณ์พวกหนึ่งทำหน้าที่โล้ชิงช้าและรำเขนงในพระราชพิธีตรียัมปวาย เพื่อถวายเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ |
บาตรแก้ว | น. บาตรใหญ่ ๓ ใบ ถักเชือกรอบนอก ในพระราชพิธีกัตติเกยา. |
บุษบก | (บุดสะบก) น. เรือนยอดแบบหนึ่งมีขนาดต่าง ๆ กัน เป็นอย่างเรือนโกง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี หรือประดิษฐานปูชนียวัตถุเช่นพระพุทธรูปเป็นต้น. |
บุษยสนาน | น. พระราชพิธีสนานในเดือนยี่, พิธีอาบนํ้าเมื่อพระจันทร์กำลังผ่านหมู่ดาวบุษยะ, บุษยาภิเษก ก็ว่า. |
เบิกพระโอษฐ์ | น. พิธีป้อนนํ้าโดยใช้ช้อนทองคำตักน้ำบริสุทธิ์ป้อนพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีสมโภช ๓ วัน. |
ปราบดาภิเษก | (ปฺราบดา-) น. พระราชพิธีขึ้นเสวยราชสมบัติหรือได้ราชสมบัติ. |
พระพิธีธรรม | น. พระสงฆ์จำนวน ๔ รูปที่กำหนดให้สวดอาฏานาฏิสูตรในงานพระราชพิธีตรุษ หรือสวดพระอภิธรรมในการศพของหลวง. |
พืชมงคล | (พืดชะ-, พืด-) น. ชื่อพระราชพิธีเพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่เกษตรกรและความเจริญงอกงามของพืชพรรณธัญญาหาร เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ที่ทำก่อนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เริ่มมีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. |
มุรธาภิเษก | น้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพีอื่น ๆ, มูรธาภิเษก ก็ว่า. |
มูรธาภิเษก | น้ำพระพุทธ-มนต์และเทพมนตร์สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น ๆ, มุรธาภิเษก ก็ว่า. |
โมงครุ่ม | น. การมหรสพอย่างหนึ่งของหลวง ที่แสดงในงานพระราชพิธีสมโภช เช่นพระราชพิธีโสกันต์, โบราณเรียก หม่งครุ่ม. |
ยืนแท่น | น. เรียกช้างสำคัญที่ผูกเครื่องพระคชาธารยืนบนแท่นในงานพระราชพิธี ว่า ช้างยืนแท่น, เรียกรูปเทวดาที่วาดหรือปั้นในท่ายืนอยู่บนแท่น ว่า เทวดายืนแท่น. |
ระทา | น. หอสูงรูปสี่เหลี่ยมหลังคาทรงยอดเกี้ยว ประดับดอกไม้ไฟนานาชนิด เช่น พลุ ตะไล จรวด ใช้จุดในงานพระราชพิธี. |
ระเบ็ง ๑ | น. การมหรสพชนิดหนึ่งของหลวง ที่แสดงในงานพระราชพิธีสมโภช เช่น พระราชพิธีโสกันต์. |
รัชมังคลาภิเษก | น. พระราชพิธีสมโภชเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงครองราชสมบัติได้นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่เคยมีมา. |