กรอก ๒ | (กฺรอก-) น. ชื่อนกยางขนาดเล็ก ในวงศ์ Ardeidae นอกฤดูผสมพันธุ์เพศผู้และเพศเมียสีลำตัวคล้ายกัน แต่ในฤดูผสมพันธุ์สีต่างกัน ในประเทศไทยมี ๓ ชนิด คือ ยางกรอกพันธุ์จีน [ Ardeola bacchus (Bonaparte) ] หัวสีนํ้าตาลแดง หลังสีเทาดำ อกสีแดง ยางกรอกพันธุ์ชวา [ A. speciosa (Horsfield) ] หัวและคอสีเหลือง หลังสีเทาดำ อกสีเหลือง และยางกรอกพันธุ์อินเดีย [ A. grayii (Sykes) ] หัวและคอสีเหลือง หลังสีแดงเข้ม อกสีน้ำตาลเหลือง กินปลาและสัตว์น้ำ. |
กระด้าง ๑ | ชื่อเห็ดหลายชนิดในวงศ์ Polyporaceae ขึ้นบนขอนไม้ เนื้อเหนียว กินไม่ได้ เช่น ชนิด Daedaleaopsis confragosa (Bolt. ex Fr.) Schroet. ดอกเห็ดรูปพัด สีน้ำตาลแดงสลับน้ำตาลอ่อน ผิวไม่เรียบ ด้านล่างมีรู เนื้อในเห็ดแข็ง. |
กระโถนฤๅษี | น. ชื่อพืชเบียนชนิด Sapria himalayana Griff. ในวงศ์ Rafflesiaceae เกิดตามป่าดิบ เกาะเบียนที่รากเครือเขานํ้า ( Tetrastigma lanceolarium Planch.) ดอกรูปกระโถนปากแตร กลิ่นเหม็น กลีบดอกสีนํ้าตาลแดงประเหลือง ใช้ทำยาได้. |
กะปูด | น. ชื่อนกขนาดกลางในวงศ์ Cuculidae ปากแหลมสั้นหนา ตาสีแดง ลำตัวเพรียว หัว คอ และลำตัวมีขนสีดำ ปีกสั้นสีน้ำตาลแดง หากินตามพื้นป่าโปร่ง บินได้ในระยะสั้น ๆ ร้องเสียง “ปูด ๆ ” มี ๓ ชนิด คือ กะปูดใหญ่ [ Centropus sinensis (Stephens) ] กะปูดเล็ก [ C. bengalensis (Gmelin) ] และกะปูดนิ้วสั้น ( C. rectunguisStrickland), ปูด หรือ กระปูด ก็เรียก, พายัพเรียก ก้นปูด. |
กางเขน | น. ชื่อนกขนาดเล็กหลายชนิด ในวงศ์ Turdidae ปากยาวปานกลางปลายแหลม หางยาวกว่าลำตัวมาก เช่น กางเขนบ้าน [ Copsychus saularis (Linn.) ] ส่วนบนลำตัวสีดำ ส่วนล่างตั้งแต่อกลงไปสีขาวหม่น ปีกมีลายพาดสีขาว มักอยู่เป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ กินแมลง, ภาคกลางเรียก กางเขน, พายัพเรียก จีแจ๊บ, อีสานเรียก จี่จู้, ปักษ์ใต้เรียก บินหลา, กางเขนดง [ C. malabaricus (Scopoli) ] ปาก หัว หลัง อก และปีกของตัวผู้สีดำเหลือบ หลังส่วนล่างติดโคนหางสีขาว อกส่วนล่างไปจนถึงหางสีน้ำตาลแดง หางยาว ด้านบนสีดำ ใต้หางและขอบหางสีขาว ขาสีน้ำตาลอมชมพู ตัวเมียสีจางไม่สดใสเท่าตัวผู้และหางสั้นกว่า. |
กินูน | น. ชื่อแมลงพวกด้วงหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Scarabaeidae ลำตัวมีขนาดและสีแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดินกินรากพืช ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บนต้นไม้กินใบไม้ มักบินเข้าหาแสงไฟ ชาวบ้านในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมนำมารับประทาน ที่พบบ่อย เช่น ชนิด Anomala antiqueGyllenhal ลำตัวสีดำเหลือบน้ำเงิน ยาว ๑๘-๒๐ มิลลิเมตร ชนิด Sophrops foveatus Moser ลำตัวสีน้ำตาลแดง ยาวประมาณ ๑๕ มิลลิเมตร, แมลงนูน ก็เรียก. |
เขียวพระอินทร์ ๑ | น. ชื่อปลาทะเลชนิด Thalassoma lunare (Linn.) ในวงศ์ Labridae ลำตัวยาวรี แบนข้าง สีเขียว และมีริ้วสีนํ้าเงินพาดขวางตลอดตัว ขนาดยาวได้ถึง ๒๐ เซนติเมตร บริเวณหัวมีแถบ ลวดลายสีม่วงแดง ครีบหางใหญ่สีเหลือง ปลายขอบบนและล่างสีแดง พบอาศัยอยู่ตามแนวหินปะการัง เมื่อขนาดยังเล็กมีพื้นสีนํ้าตาลแดงที่บริเวณกลางครีบหลังและโคนครีบหางมีจุดใหญ่สีดำ. |
คันไฟ | น. ชื่อมดชนิด Solenopsis geminata (Fabricius) ในวงศ์ Formicidae ลำตัวยาวประมาณ ๕ มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง หัวค่อนข้างโต ทำรังอยู่ตามพื้นดิน โดยเฉพาะดินร่วนหรือดินทราย รังอาจอยู่ลึกลงไปใต้ดินถึง ๐.๕ เมตร มีอวัยวะสำหรับต่อยปล่อยกรดทำให้คัน ปวดแสบปวดร้อน และเป็นตุ่มแดงใหญ่. |
จะละเม็ด ๒ | น. ชื่อเต่าทะเลชนิด Caretta caretta Linn. ในวงศ์ Cheloniidae หัวโตกว่าเต่าทะเลชนิดอื่น เกล็ดกระดองหลังแถวข้างมี ๕ ชิ้น กระดองสีนํ้าตาลหรือนํ้าตาลแดง ท้องสีขาวครีม พบในมหาสมุทรแปซิฟิก เขตนํ้าอุ่นของมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย พบน้อยในอ่าวไทย, เรียกไข่เต่าทะเลทุกชนิด ว่า ไข่จะละเม็ด. |
ชนหิน | น. ชื่อนกเงือกขนาดใหญ่ชนิด Rhinoplax vigil (Forster) ในวงศ์ Bucerotidae ปากใหญ่สีเหลือง บนส่วนท้ายของขากรรไกรบนมีโหนกแข็งสีแดง ส่วนด้านหน้าตัน คอสีน้ำตาลแดง ลำตัวและปีกสีดำ ขอบปีกสีขาว หางสีขาวมีคาดสีดำ ขนหางตอนกลางยื่นยาวเป็นคู่ออกไปมีสีขาวตอนปลายคาดดำ พบทางภาคใต้. |
ไซ ๒ | น. ชื่องูน้ำจืดขนาดกลางชนิด Enhydris bocourti Jan ในวงศ์ Colubridae หัวป้อมใหญ่ ปลายปากมน คอไม่คอด ลำตัวอ้วนกลมสีน้ำตาลเหลืองหรือน้ำตาลแดง บนหลังมีลายเป็นปล้องใหญ่ หางสั้น มีพิษอ่อนมาก ผู้ถูกกัดมักไม่มีปฏิกิริยาต่อพิษงูชนิดนี้. |
ตะขาบ ๑ | น. ชื่อสัตว์ขาปล้อง ชั้น Chilopoda มีเขี้ยว ๑ คู่ หัวและลำตัวยาวแบนหรือค่อนข้างแบน มีจำนวนปล้องตั้งแต่ ๑๕ ปล้องขึ้นไป แต่ละปล้องมีขา ๑ คู่ไปจนถึงปล้องสุดท้ายหรือเกือบสุดท้าย ขามี ๕-๗ ปล้อง อยู่ด้านข้างของลำตัว บางชนิดมีนํ้าพิษ ทำให้ผู้ถูกกัดเจ็บปวด เช่น ตะขาบไฟ ( Scolopendra morsitansLinn.) ในวงศ์ Scolopendridae ลำตัวยาว ๑๔-๒๐ เซนติเมตร สีน้ำตาลแดง, กระแอบ หรือ จะขาบ ก็เรียก. |
ตะโขง | น. ชื่อจระเข้ชนิด Tomistoma schlegelii Müller ในวงศ์ Crocodylidae ขนาดใหญ่กว่าจระเข้ทั่วไป ปากเล็กเรียวยาวคล้ายปากปลากระทุงเหวแต่งอนขึ้นด้านบนเล็กน้อย ตัวสีนํ้าตาลแดงมีลายสีนํ้าตาลเข้ม หางแบนใหญ่ใช้ว่ายนํ้า อาศัยตามป่าเลนชายนํ้ากร่อย ในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น, จระเข้ปากกระทุงเหว ก็เรียก. |
ตะนอย | น. ชื่อมดชนิด Tetraponera ruflonigra (Jerdon) ในวงศ์ Formicidae ลำตัวยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร หัวและท้องสีดำหรือน้ำตาลดำ ส่วนอกและส่วนท้องปล้องแรกสีน้ำตาลแดง มีอวัยวะสำหรับต่อยปล่อยกรดทำให้เจ็บปวดได้ ทำรังอยู่เป็นฝูงตามกอหญ้า ใต้ก้อนหิน หรือใต้ดินที่ชื้นต่าง ๆ. |
ตะลาน ๒ | น. ชื่อมดชนิด Anoplolepsis gracilipes (Smith) ในวงศ์ Formicidae ลำตัวยาว ๔ มิลลิเมตร สีนํ้าตาลแดง ขายาว เดินได้เร็ว ไม่มีพิษ, ตาลาน หรือ ตะลีตะลาน ก็เรียก. |
เต่าหวาย | น. ชื่อเต่านํ้าจืดขนาดใหญ่ชนิด Heosemys grandis (Gray) ในวงศ์ Emydidae หัวสีน้ำตาลมีลายจุดสีส้ม กระดองสีนํ้าตาลแดงอาศัยอยู่บนบกใกล้บึงและแม่นํ้าลำคลอง ผสมพันธุ์ในน้ำ ปัจจุบันพบน้อยในถิ่นธรรมชาติ. |
ท้องขาว ๒ | น. ชื่อหนูขนาดกลางชนิด Rattus rattus (Linn.) ในวงศ์ Muridae ตัวสีนํ้าตาลอ่อนถึงนํ้าตาลแดง พื้นท้องสีขาว มีเส้นสีนํ้าตาลหรือดำพาดขวางหน้าอก จมูกแหลม ใบหูใหญ่ หางสีดำยาวไล่เลี่ยกับความยาวของส่วนหัวและลำตัว กินเมล็ดพืชและเศษอาหาร มีชุกชุมทั่วทุกภาคของประเทศไทย. |
น้ำดับไฟ | น. ชื่อไม้เถา ๒ ชนิดในสกุล Gouania วงศ์ Rhamnaceae คือ ชนิด G. javanica Miq. ใบมีขนสีน้ำตาลแดง ดอกสีเขียวอ่อน และชนิด G. leptostachya DC. ใบเกลี้ยง ดอกสีขาวอมเขียว, พวงจะริตา ก็เรียก. |
บัวตูม | น. ชื่อพืชเบียนชนิด Rafflesia kerriiMeijer ในวงศ์ Rafflesiaceae เกิดตามป่าดิบ เกาะเบียนรากไม้เถา ดอกตูมสีนวล ใช้ทำยาได้ เมื่อบานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐ เซนติเมตร สีนํ้าตาลแดงประเหลือง กลิ่นเหม็น, บัวผุด ก็เรียก. |
บึก | น. ชื่อปลานํ้าจืดขนาดใหญ่ชนิด Pangasianodon gigas Chevey ในวงศ์ Pangasiidae ไม่มีเกล็ด ตัวยาว แบนข้างเล็กน้อย ท้องกลม มีหนวดสั้นมากข้างละ ๑ เส้นที่มุมปาก ไม่มีฟัน ครีบหลังตอนที่ ๒ เป็นแผ่นเนื้อขนาดเล็ก ลำตัวด้านหลังสีเทาอมนํ้าตาลแดง ด้านท้องสีขาว มีในลำแม่นํ้าโขง ขนาดยาวได้ถึง ๓ เมตร. |
ปากกว้าง | น. ชื่องูนํ้าขนาดกลางชนิด Homalopsis buccata (Linn.) ในวงศ์ Colubridae ลำตัวยาวประมาณ ๑.๓ เมตร หัวใหญ่ ด้านบนมีแถบสีน้ำตาลเหลืองพาดขวาง ปากกว้าง เกล็ดมีสัน ตัวสีน้ำตาลแดง มักพบอาศัยอยู่ตามริมคลอง บึง และหนองน้ำ หากินเวลากลางคืน กินปลาและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเป็นอาหาร มีพิษอ่อนมาก, หัวกะโหลก เหลือมอ้อ เหลือมน้ำ หรือ เห่าน้ำ ก็เรียก. |
ปากจิ้งจก ๒ | น. ชื่องูขนาดกลางชนิด Ahaetulla prasina (Boie) ในวงศ์ Colubridae ยาวประมาณ ๑.๓ เมตร หัวและลำตัวเรียวยาว มีหลายสี ส่วนมากสีเขียวปลายหางสีนํ้าตาลแดง มักพบอาศัยบนต้นไม้ หากินเวลากลางวัน ส่วนใหญ่กินกิ้งก่า พบทั่วประเทศไทย มีพิษอ่อนมาก, บางครั้งเรียกชื่อตามสี เช่น ตัวสีส้มเรียก งูง่วงกลางดง ตัวสีเทาเรียก งูกล่อมนางนอน, เขียวหัวจิ้งจก เชือกกล้วย รากกล้วย หรือ แห้ว ก็เรียก. |
ปากแตร ๒ | น. ชื่อปลาทะเลในสกุล Fistularia วงศ์ Fistulariidae หัวและลำตัวแบนลงแต่แคบและยาวมาก ตาโต ปากเป็นท่อยาวคล้ายแตร มีช่องปากขนาดเล็กอยู่ปลายสุด ลำตัวไม่มีเกล็ดยกเว้นเฉพาะที่แนวสันหลัง ครีบหลังและครีบก้นอยู่ค่อนไปทางหาง ครีบหางเป็นแฉกมีเส้นยาวคล้ายแส้ยื่นออกจากกึ่งกลางครีบ ลำตัวทั่วไปรวมทั้งหัวและครีบสีนํ้าตาลแดง ขนาดยาวได้ถึง ๑ เมตร เช่น ชนิด F. villosa Klunzinger, สามรส ก็เรียก. |
เป็ดพม่า | น. ชื่อนกเป็ดน้ำขนาดใหญ่ชนิด Tadorna ferruginea (Pallas) วงศ์ย่อย Anatinae ในวงศ์ Anatidae ขนาดและรูปร่างคล้ายห่าน ลำตัวสีน้ำตาลแดง ตัวผู้มีลายคล้ายสร้อยคอเล็ก ๆ สีแดงเข้ม, จากพราก จากพาก จักรพาก หรือ จักรวาก ก็เรียก. |
ผีเสื้อยักษ์ ๒ | น. ชื่อผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ ๒ ชนิด ในวงศ์ Saturniidae ความกว้างเมื่อกางปีก วัดจากปลายปีกข้างหนึ่งถึงปลายปีกอีกข้างหนึ่งยาว ๒๑-๒๗ เซนติเมตร ลำตัวและอกปกคลุมด้วยขนสีนํ้าตาลแดง ปีกสีนํ้าตาลแดงมีลวดลาย บริเวณเกือบกึ่งกลางปีกมีลักษณะบางใส เช่น ชนิด Attacus atlas (Linn.) ปลายปีกคู่หน้ามีจุดสีน้ำตาลดำ ๑ จุด พบทั่วไป ส่วนใหญ่กินใบกระท้อนและฝรั่ง และชนิด Archaeoattacus edwardsiiWhite ปลายปีกคู่หน้ามีจุดสีน้ำตาลดำ ๓ จุด พบที่จังหวัดเชียงใหม่. |
มะดูก | ชื่อไม้ต้นชนิด Siphonodon celastrineus Griff. ในวงศ์ Celastraceae ดอกสีเหลืองมีขีดหรือจุดประสีนํ้าตาลแดง ผลสุกกินได้ รสหวาน. |
เรือด | น. ชื่อแมลงหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Cimicidae ลำตัวแบนราบรูปไข่ ปีกลดรูปเหลือเพียงติ่ง ลำตัวยาว ๔-๕ มิลลิเมตร สีนํ้าตาลแดง พบซ่อนตัวอยู่ตามที่อับเช่นที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์โดยเฉพาะเตียงนอน พื้นบ้าน ที่นอนหมอนมุ้ง ร่องกระดาน ดูดกินเลือดคนและสัตว์ ที่แพร่หลายมี ๒ ชนิด คือ ชนิด Cimex lectularius Linn. และชนิด C. hemipterus (Fabricius). |
ลม ๓ | น. ชื่อเห็ดชนิด Lentinus polychrous Lév. ในวงศ์ Polyporaceae ขึ้นบนขอนไม้ผุ ดอกเห็ดรูปปากแตร ด้านบนมีเกล็ดสีนํ้าตาลอ่อน ด้านล่างมีครีบสีนํ้าตาลแดง เนื้อเหนียว กินได้. |
ลี่ ๑ | น. ชื่อมดชนิด Crematogaster rogenhoferi Mayer ในวงศ์ Formicidae ลำตัวยาวประมาณ ๔ มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง เวลาเดินยกส่วนท้องขึ้นเกือบตั้งฉากกับลำตัว อยู่กันเป็นฝูงตามต้นไม้ ทำรังด้วยดินและเศษพืชเป็นสีน้ำตาลดำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐ เซนติเมตร พอกอยู่ตามโคนต้นไม้คล้ายจอมปลวก หรือทำเป็นรูปทรงกลมตามกิ่งไม้หรือง่ามไม้, รี่ หรือ ตูดงอน ก็เรียก. |
สิรินธรวัลลี | น. ชื่อไม้เถาเนื้อแข็งชนิด Bauhinia sirindhorniae K. Larsen et S.S. Larsen ในวงศ์ Leguminosae ใบมัน ดอกเล็ก สีเหลืองอมส้มถึงแดง มีขนสีน้ำตาลแดง ฝักแบนรูปขอบขนาน มีขนสีน้ำตาลแดงคลุมแน่น ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. |
เสี้ยนดิน | น. ชื่อมดชนิด Dorylus orientalis Westwood ในวงศ์ Formicidae ลำตัวยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร สีน้ำตาลแดง อาศัยอยู่ในดิน มักพบเป็นศัตรูของฝักถั่วลิสงในดินขณะยังไม่ได้เก็บเกี่ยว, แมลงแดง ก็เรียก. |
หมาใน | น. ชื่อหมาชนิด Cuon alpinus (Pallas) ในวงศ์ Canidae ขนสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเทา หางสีคลํ้ายาวเป็นพวง อาศัยอยู่ตามป่าทึบ ออกหากินเป็นฝูงเวลาเช้ามืดและพลบคํ่า ล่าสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร เช่น เก้ง กวาง กระจง รวมทั้ง สัตว์เล็กอื่น ๆ. |
หมากหน้าแก่, หมากหน้าฝาด | น. ผลหมากอย่างดี เมื่อผ่าสดจะเห็นว่ามีเนื้อมาก สีออกส้มหรือน้ำตาลแดง มีวุ้นน้อย หน้าหมากมียางเยิ้มเป็นมัน มีลายเส้นในเนื้อมาก รสฝาด. |
อุรังอุตัง | น. ชื่อลิงขนาดใหญ่ชนิด Pongo pygmaeus (Linn.) ในวงศ์ Pongidae รูปร่างคล้ายคน ขนลำตัวยาวสีนํ้าตาลแดง แขนยาว ขาสั้นและค่อนข้างเล็ก ใบหูเล็กมาก ตัวผู้มีถุงลมขนาดใหญ่ตรงคอหอยและส่วนแก้มจะขยายออกทางด้านข้าง นิ้วตีนนิ้วแรกไม่มีเล็บ อาศัยอยู่บนต้นไม้ กินผลไม้ ยอดและหน่อของต้นไม้ มี ๒ พันธุ์ย่อย คือ พันธุ์สุมาตรา ( P. p. abeliLesson) และพันธุ์บอร์เนียว [ P. p. pygmaeus (Linn.) ] มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวเท่านั้น. |
อู | น. ชื่อไก่ชนิด Gallus gallus (Linn.) ตัวผู้บริเวณหน้า หงอน และเหนียงสีแดงจัด ขนคอยาว สีน้ำตาลแดง ขนปีกสีดำเหลือบเขียวเป็นมัน ขนตะโพกสีเหลือง ขนหางยาวเป็นมันสีดำเหลือบเขียว อาจมีขนสีเหลืองหรือขาวแซม ลำตัวล่ำ ช่วงไหล่ใหญ่ น่องใหญ่ล่ำ แข้งกลมเรียวมีเกล็ดขนาดใหญ่สีเหลืองอ่อน เทา หรือเหลืองอมแดง มีเดือยข้างละ ๑ อัน ลักษณะยาวปลายโค้งแหลม ตัวเมียรูปร่างเล็กกว่า ขนตามลำตัวส่วนมากมีสีดำ หรือดำประขาว มีหลายพันธุ์ เช่น ประดู่หางดำ เหลืองหางขาว. |