longdodict-blog
 
 
พูดอังกฤษเต็มปากเต็มคำ ตอนที่ 2 กฎ กติกา มารยาท
Submitted by pattara on Sat, 2009-02-14 15:19

จาก ตอนที่ 1 บางท่านอาจสังเกตแล้วว่าผมได้ทิ้งท้ายไว้ว่า

See you!

(S IY1 Y AH)

ไอ้คำว่า See you! ที่แปลว่า แล้วเจอกันนะ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าไอ้ตัวด้านล่าง S IY1 Y AH  นี่ซิ หลายท่านคงจะสงสัยตะหงิดๆ ว่ามันคืออะไร แต่เพ่งสักพัก ก็จะคงเดากันได้ว่ามันคือ

ภาษาสำหรับบอกวิธีการออกเสียง

ที่เราจะใช้กันในบทความชุดนี้ครับ ทำนองเดียวกับเวลาที่เราบอกว่า กรกฎาคม อ่านว่า กะ-ระ-กะ-ดา-คม นั่นล่ะ

มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะมีข้อสงสัยเล็กน้อย เช่น

เอ ทำไมไม่ใช้ภาษาไทยบอกวิธีการออกเสียงล่ะ เช่น See you ก็ ซี ยู ไง คนไทยอ่านก็ใช้ภาษาไทยบอกเสียงซี่

หรือไม่ก็

โอเค ใช้เป็นภาษาสำหรับออกเสียงเฉพาะเลยก็ได้ แต่ว่าที่เคยเห็นมามันต้องเป็นตัวอักษร phonetics ทำนอง see ก็   หรือไม่ก็ อะไรทำนองนี้ไม่ใช่รึ

ไอ้ S IY1 Y AH นี่มันมายังไง สูตรไหนเนี่ย ไม่เคยเห็น!

โอเคๆ เข้าใจครับ อันนี้มันสูตรใหม่ อาจจะยังไม่คุ้นชิน สมควรที่จะมีคำอธิบายอย่างชัดเจนอยู่

แต่ขออนุญาตกั๊กเหตุผลไว้ก่อนนะครับ

เพราะว่าถ้าอธิบายตอนนี้เลยมันจะยาว ต้องชักแม่น้ำหลายสายมาอธิบาย ถ้าผ่านไปอีกสักนิดนึง เราจะมีความคุ้นเคยกับตัวอักษรเหล่านี้บ้างแล้ว จะทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่า  และตอนนี้ก็มีบางท่านก็เริ่มบ่นแล้วว่า ตกลงบทความนี้ ไม่เห็นเริ่มเนื้อหาสักที

มันจะเกริ่นกันอีกนานมั้ย?

ก็เลยต้องขอกั๊กไว้ก่อน แต่ยืนยันว่ามีเหตุผลแน่นอนครับ และเป็นเหตุผลที่เหมาะกับคนไทยด้วย เอาไว้สักพักแล้วจะอธิบายครับ และเวลาที่อธิบายถึงเสียงสระหนึ่งๆ เป็นครั้งแรก (เฉพาะครั้งแรกนะครับ) ผมจะกำกับไว้ด้วย อักษรออกเสียง หลายๆ สูตร ให้เป็นที่อ้างอิงไว้ และจะมีคำอ่านภาษาไทยให้ด้วย

ทีนี้เราจะเริ่มกันได้รึยัง ใกล้แล้วครับ แต่ขออีกนิดนึง เราต้องมีการตกลงกฎ กติกา มารยาทกันก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรมากหรอก อันว่าการเรียนภาษาโดยเฉพาะในส่วนของเรื่องการออกเสียงที่เราจะมาว่ากันนั้น มันไม่ได้มีหลักการ สูตร อะไรมากมาย มันไม่ใช่เรื่องไวยากรณ์ หรือ tense ที่จะต้องผันอะไรกันให้ปวดหัว มันแค่ต้องจำและฝึกฝนเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่เราไปเรียนหรือไปเติบโตในต่างประเทศที่พูดภาษานั้นๆ เป็นหลักแล้ว ก็แทบไม่ต้องจำอะไรเลยด้วย เพราะการที่ได้ยินได้ฟังทุกวัน สมองคนเรามีความสามารถในการเรียนรู้และจำได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

แต่ว่าในกรณีนี้เผอิญเราไม่ได้ไปโตอยู่ต่างประเทศ มันก็ต้องมีตัวช่วยในการเรียนรู้และจำนิดนึง ซึ่งก็คือสิ่งที่เราจะว่ากันในบทความนี้ไปทีละตอนนี่ล่ะครับ เราจะชี้ให้เห็นถึงสระต่างๆ ตัวอย่างการออกเสียง และตัวอย่างคำที่คนไทยมักอ่านผิด ดังนั้น

กฎคือ ท่านต้องจำว่าให้ได้สัญลักษณ์ตัวอักษรออกเสียงที่ได้เรียนผ่านไปแล้ว ว่ามันคือเสียงอะไร

วิธีการจำให้ได้ก็ไม่ยากครับ คือ ให้เพ่งมองตัวอักษรนั้นๆ และก็ฟังเสียงคำอ่าน รวมถึงฝึกอ่านคำตัวอย่างต่างๆ ซ้ำไปหลายๆ รอบ มันก็จะเข้าหัวไปเองครับ. ในตอนที่อธิบายตัวอักษรออกเสียงนั้นๆ เป็นครั้งแรก เราจะมีภาษาไทยกำกับช่วยอยู่ แต่ในตอนถัดๆ ไปก็จะไม่มีแล้ว ดังนั้น เราต้องมีการตกลงกันตรงนี้ก่อนครับ ว่าท่านจะต้องจำให้ได้ และต้องฝึกฝนตามตัวอย่างทุกคำ

คำละหลายๆ รอบๆ ครับ ไม่ใช่รอบเดียว

มันมีไม่กีคำหรอกครับ แหะ แหะ ไม่ต้องตกใจ

ในเบื้องต้นเราก็จะมาว่ากันถึง เสียงสระ และพยัญชนะของภาษาอังกฤษ แบบโดดๆ กันให้ครบก่อน เมื่อนั้นท่านก็จะไม่มีปัญหาในการอ่านคำยากๆ ใดๆ ในภาษาอังกฤษแล้ว ท่านจะพูดอังกฤษได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ไม่ต้องกลัว sorry อะไรนะ

หลังจากนั้นเราก็จะไปสู่ขั้นที่สองกันนั่นคือ การพูดเป็นประโยค โดยมีการเชื่อมต่อของคำที่จะทำให้ฟังดูแล้วเป็นธรรมชาติ ซึ่งถ้ามองในแง่ผลลัพธ์ที่ออกมา มันอาจจะพังดูเหมือนลดความชัดลง แต่เป็นการพูดไม่ชัดแบบถูกต้อง! และเป็นภาษาพูดในแบบที่เขาพูดกัน ก็ดูเอาง่ายๆ คนไทยบางทีแทนที่จะพูดแบบเต็มๆ ว่า ทำไมเหรอ หรือ ห้องน้ำอยู่ทางโน้นหรือเปล่า ก็พูดว่า [ผมสะกดเป็นเสียงอ่านนะครับ] ทัม-ไม-อะ, ห้อง-น้าม-อยู่-ทัง-โน้น-ปะ ซึ่งภาษาอังกฤษ มันก็คล้ายๆ กันล่ะครับ แต่จะเป็นเรื่องของ การเปลี่ยนวิธีการออกเสียงของคำกรณีที่มันไม่ได้เป็นคำเน้น และการเชื่อมต่อพยางค์ระหว่างคำ เป็นต้น ซึ่งเราจะไว้ว่ากันในภาคหลังครับ

โอเค ทีนี้เราก็พร้อมจะเดินหน้ากันล่ะ ในตอนนี้ ผมขอแสดงรายการของตัวอักษรที่จะใช้ในภาษาสำหรับออกเสียงตามด้านล่างครับ ให้ผู้อ่านได้คุ้นชินกันก่อน บางตัวก็มีเสียงคล้ายเสียงในภาษาไทยจนอาจจะเดาๆ ได้อยู่แล้ว

เสียงสระ

AE AA R AW AY

 

EH AH ER EY

 

IH IY AA AO

 

OY OW UH

 

AH UW

 

EH (R) IH (R) UH (R)

เสียงพยัญชนะ

B CH D DH F G HH

 

JH Y K L M N NG P

 

R S SH T TH V W Z ZH

 

ในตอนต่อไป เราจะมาว่ากันถึงสระคู่แรกที่เราจะฝึกกัน คือ

IH และ IY

พบกันตอนต่อไปครับ

 

Comments

จะติดตามเนื้อหาต่อไปนะคะ น่าสนใจดี เป็นคนนึงที่อยากจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้เต็มปากเต็มคำ

ขอบคุณมากๆ ครับ

กำลังติดตามอยู่ครับ

ขอบคุณมากๆค่ะ