Positron | โพซิตรอน, อนุภาคมูลฐานที่มีมวลเท่ากับอิเล็กตรอนแต่มีประจุเป็นบวก เรียกอีกอย่างว่า “แอนติอิเล็กตรอน” เกิดจาก แพร์โพรดักชัน หรือจากการสลายกัมมันตรังสีของนิวไคลด์บางชนิด เช่น โซเดียม-22 (ดู antimatter; electron และ pair production ประกอบ) [นิวเคลียร์] |
Positron Emission Tomography | เพ็ต, เทคนิคการถ่ายภาพการทำงานของอวัยวะด้วยวิธีกราดวิเคราะห์โพซิตรอนที่ปล่อยออกมาหลังจากฉีดเภสัชภัณฑ์รังสีที่มีครึ่งชีวิตสั้นมากซึ่งผลิตจากไซโคลทรอนเข้าไปในกระแสเลือด เช่น การตรวจการทำงานของสมอง จะใช้กลูโคสซึ่งฝังตรึงด้วยสารกัมมันตรังสี ฟลูออร์-18 เพื่อแสดงการทำงานของสมองส่วนต่างๆ เป็นภาพสามมิติที่มีสีสันแตกต่างกัน ข้อดีของเทคนิคนี้ คือ สามารถแสดงผลได้รวดเร็วในเวลาน้อยกว่า 1 นาที นอกจากนี้ยังสามารถใช้วินิจฉัยด้านอื่นๆ ได้ด้วย เช่น โรคหัวใจร่วมหลอดเลือด เนื้องอก และด้านลิ่มเลือดหรือโรคลมต่างๆ [นิวเคลียร์] |
Positron Emission Tomography | เป็นเทคนิคการถ่ายภาพอวัยวะในร่างกายที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน โดยการตรวจวัดสารกัมมันตรังสีบางชนิด ซึ่งให้แก่ร่างกายในรูปของสารเภสัชรังสี เพื่อใช้ในการตรวจวัดเชิงปริมาณของขบวนการทางชีวเคมีในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ไอโซโทปรังสีที่ใช้จะเป็นชนิดที่ปลดปล่อยโพซิตรอนออกมา เช่น ออกซิเจน-15 ไนโตรเจน-13 และคาร์บอน-11 โพซิตรอนที่ปล่อยออกมานี้จะเข้าทำปฏิกิริยาประลัย (annihilation) เกือบจะทันทีทันใดกับอิเล็กตรอนที่โคจรอยู่รอบนิวเคลียสในอะตอมของสาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารเภสัชรังสีนั้น และมีรังสีแกมมาพลังงาน 511 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ ปลดปล่อยออกมาพร้อมกันในสองทิศทางตรงกันข้าม สามารถตรวจวัดได้ด้วยหัววัดรังสีที่อยู่ตรงข้ามกัน จากหัววัดหลายๆ หัวที่ล้อมรอบคนไข้ ทำให้ทราบตำแหน่งที่ผิดปกติในร่างกายได้ โดยการแปลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ เนื่องจากส่วนใหญ่ของไอโซโทปรังสีที่ใช้กับเทคนิคนี้ เป็นไอโซโทปของธาตุที่เป็นส่วนประกอบของอินทรีย์วัตถุ จึงทำให้ PET มีประโยชน์ในการศึกษากระบวนการทางสรีรวิทยาและชีวเคมีที่ผิดปกติด้วย ในทางปฏิบัติ PET จำเป็นต้องใช้ไอโซโทปรังสีที่ผลิตขึ้นจากการระดมยิงที่เป้า ด้วยโปรตรอนพลังงานสูงภายในเครื่องไซโคลตรอน การศึกษาโดยใช้ PET จะมุ่งเน้นไปยังระบบประสาทส่วนกลางเป็นหลัก ด้วยการวัดตัวแปรเสริมอื่นๆ ประกอบ เช่น การไหลเวียนของเลือด กระบวนการสร้างและสลายน้ำตาลกลูโคส และการเผาผลาญออกซิเจน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะหาสมุฏฐานของโรคลมบ้าหมู หรือหาขนาดที่แน่นอนของบริเวณที่พิการในสมองได้ ในการศึกษาที่เกี่ยวกับหัวใจและหน้าที่ของหัวใจ การตรวจโดยใช้ PET จะเป็นวิธีที่เฉพาะเจาะจง และให้ผลดีกว่าการตรวจสอบโดยวิธีอื่นๆ [พลังงาน] |