กระทู้ ๓ | น. ชื่อหนอนผีเสื้อกลางคืนหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Noctuidae ลำตัวรูปทรงกระบอก ยาว ๓-๔ เซนติเมตร ผิวเป็นมัน มีขนตามลำตัวน้อย ส่วนใหญ่สีน้ำตาลคลํ้า ทางด้านท้องสีอ่อนกว่า มักมีแถบหรือเส้นสีต่าง ๆ เช่น สีส้มอมนํ้าตาล เหลืองอมขาว พาดตามยาวที่สันหลังและข้างลำตัว มีขาจริง ๓ คู่ ขาเทียม ๕ คู่ กินพืช โดยมักกัดต้นพืชให้ขาดออกจากกัน ทำให้เหลือแต่ตอโผล่เหนือพื้นดิน มองคล้ายกระทู้หรือซอไม้ไผ่ที่ปักเป็นหลัก ชนิดที่รู้จักกันทั่วไป เช่น หนอนกระทู้ควายพระอินทร์หรือหนอนกระทู้คอรวง [ Mythimna separate (Walker) ] ทำลายต้นข้าว, หนอนกระทู้ผัก [ Spodoptera litura (fabricius) ] ที่กัดกินพืชผัก. |
บุ้ง ๑ | น. ชื่อหนอนผีเสื้อกลางคืนหลายชนิดหลายวงศ์ ในอันดับ Lepidoptera มีขนอ่อนปกคลุมตามตัว เมื่อถูกตัวจะเกิดระคายเคือง เมื่อเจริญวัยเปลี่ยนเป็นดักแด้และออกมาเป็นผีเสื้อกลางคืน เช่น ชนิด Leucoma ochripesMoore ในวงศ์ Lymantriidae, ชนิด Ceratonotos transiensWalker ในวงศ์ Arctiidae. |
ผีเสื้อ ๑ | น. ชื่อแมลงอันดับ Lepidoptera มีปีกเป็นแผ่นบาง ๒ คู่ ลำตัว ปีก และขาปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กมาก คล้ายฝุ่นเมื่อมองด้วยตาเปล่า เกล็ดเหล่านี้ทำให้เกิดสีต่าง ๆ กัน ปากเป็นงวงยาวม้วนได้ มีทั้งชนิดหากินในเวลากลางวัน มีหนวดแบบเส้นด้าย ปลายหนวดเป็นปุ่ม เรียก ผีเสื้อกลางวัน และชนิดหากินในเวลากลางคืน หนวดมีหลายแบบ ปลายหนวดไม่เป็นปุ่ม เรียก ผีเสื้อกลางคืน, พายัพเรียก กะเบ้อ, อีสานเรียก กะเบ้อ กะเบี้ย ก่ำบี้ หรือ กะบี้. |
ผีเสื้อกะโหลก, ผีเสื้อหัวกะโหลก | น. ชื่อผีเสื้อกลางคืนหลายชนิด ในสกุล Acherontiaวงศ์ Sphingidae บริเวณด้านบนของส่วนอกมีลายรูปคล้ายหัวกะโหลก พบทั่วไป เช่น ชนิด A. lachesis (Fabricius) ความกว้างเมื่อกางปีกวัดจากปลายปีกข้างหนึ่งถึงปลายปีกอีกข้างหนึ่งยาว ๘-๑๓ เซนติเมตร, ชนิด A. styx (Westwood) ความกว้างเมื่อกางปีกยาว ๘-๑๒ เซนติเมตร. |
ผีเสื้อยักษ์ ๒ | น. ชื่อผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ ๒ ชนิด ในวงศ์ Saturniidae ความกว้างเมื่อกางปีก วัดจากปลายปีกข้างหนึ่งถึงปลายปีกอีกข้างหนึ่งยาว ๒๑-๒๗ เซนติเมตร ลำตัวและอกปกคลุมด้วยขนสีนํ้าตาลแดง ปีกสีนํ้าตาลแดงมีลวดลาย บริเวณเกือบกึ่งกลางปีกมีลักษณะบางใส เช่น ชนิด Attacus atlas (Linn.) ปลายปีกคู่หน้ามีจุดสีน้ำตาลดำ ๑ จุด พบทั่วไป ส่วนใหญ่กินใบกระท้อนและฝรั่ง และชนิด Archaeoattacus edwardsiiWhite ปลายปีกคู่หน้ามีจุดสีน้ำตาลดำ ๓ จุด พบที่จังหวัดเชียงใหม่. |
มวนหวาน | น. ชื่อผีเสื้อกลางคืนหลายชนิด หลายสกุล ในวงศ์ Noctuidae เป็นศัตรูพืชโดยใช้ปลายปากที่แข็งแรงเจาะเปลือกผลไม้ เช่น ส้ม เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย เพื่อดูดกินน้ำข้างใน ทำให้เกิดรอยแผลเชื้อโรคเข้าได้ ผลไม้เน่าและร่วงในที่สุด ชนิดที่พบบ่อย คือ ชนิด Eudocima fullonia (Clerck), E. salaminia (Cramer) และ Purbia discrepans (Walker). |
แมงกาย | น. ผีเสื้อกลางคืน. (ดู ผีเสื้อ ๑). |
ร่าน ๑ | น. ชื่อหนอนผีเสื้อกลางคืนหลายชนิด หลายสกุล ในวงศ์ Limacodidae มีขนแข็งคล้ายหนามปกคลุมทั้งตัวหรือเป็นกระจุก ปลายขนมีต่อมน้ำพิษเมื่อถูกตัวจะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน เมื่อเจริญวัยเปลี่ยนเป็นดักแด้และออกมาเป็นผีเสื้อกลางคืน เช่น ชนิด Parasa lepida (Cramer), ชนิด Miresa albipuncta (Herrich-Schäffer), เขียวหวาน ก็เรียก. |
โสน ๒ | (สะโหฺน) น. ชื่อหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิด Zeuzera coffeaeNietner ในวงศ์ Cossidae ยาว ๔-๖ เซนติเมตร สีขาวหรือชมพูอ่อน เจาะเข้าไปกินส่วนในของต้นโสน ชาวชนบทจับมารับประทาน, หนอนโสน ก็เรียก. |
หนอนกอ | น. ชื่อหนอนผีเสื้อกลางคืนหลายชนิด หลายสกุล หลายวงศ์ อันดับ Lepidoptera ซึ่งเจาะกินเข้าไปในลำต้นพืช วงศ์ Gramineae เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด ทำให้ตายหรือเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ เช่น หนอนกอสีครีม [ Scirpophaga incertulas (Walker) ] เจาะลำต้นข้าว ทำให้ข้าวไม่ออกรวงหรือเมล็ดลีบ เรียกว่า ข้าวหัวหงอก, หนอนกออ้อย (Chilo infuscatellus Snellen) เจาะลำต้นอ้อย ทั้ง ๒ ชนิดอยู่ในวงศ์ Pyralidae, หนอนกอสีชมพู [ Sesamia inferens (Walker) ] วงศ์ Noctuidae เจาะลำต้นข้าวโพด. |