คู่โค | น. นาที่ต้องเสียค่านาตามหน้าโฉนดทุก ๆ ปี ผิดกับนาฟางลอย ซึ่งต้องเสียค่านาแต่เฉพาะในปีที่ปลูกข้าว. [ “ที่เรียกว่า นาคู่โค เพราะวิธีเก็บหางข้าวนาชนิดนี้นับจำนวนโค (กระบือ) ที่ใช้ทำนาในที่นั้น ๆ ด้วยถือเป็นยุติว่า โคคู่หนึ่งคงจะทำนาในที่เช่นนั้นได้ผลประมาณปีละเท่านั้น เอาเกณฑ์จำนวนโคขึ้นตั้งเป็นอัตราหางข้าวที่จะต้องเสีย เพราะฉะนั้น นาคู่โค ถึงจะทำหรือมิทำจึงต้องเสียหางข้าว” พงศ. ร. ๒ ]. |
ทฤษฎีใหม่ | น. หลักวิชาการจัดการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้นขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง มี ๓ ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นต้น คือ ครอบครัวเกษตรกรรายย่อยบริหารจัดการพื้นที่ทำกินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วน คือ พื้นที่ขุดสระ พื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่ปลูกพืชไร่พืชสวน และพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อให้เกิดการผลิตที่พออยู่พอกิน ขั้นกลาง คือ รวมเป็นกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมเพิ่มผลผลิตและจำหน่ายอย่างมีพลังต่อรอง และขั้นก้าวหน้า คือ สร้างเครือข่ายนอกชุมชนเพื่อหาแหล่งทุนมาร่วมลงทุนและพัฒนา ทุกขั้นตอนเน้นความมัธยัสถ์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง. |
นา ๑ | น. พื้นที่ราบทำเป็นคันกั้นนํ้าเป็นแปลง ๆ สำหรับปลูกข้าวเป็นต้น, พื้นที่มีลักษณะคล้ายนาสำหรับทำประโยชน์อื่น ๆ เรียกตามสิ่งที่ทำ เช่น นาเกลือ นากุ้ง, ใช้ประกอบกับคำอื่นที่เกิดหรือเกี่ยวข้องกับนา เช่น เต่านา ปูนา. |
นาฟางลอย | น. นาที่ปลูกข้าวชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ข้าวขึ้นน้ำ” เนื่องจากมีรากยาว สามารถหนีน้ำที่บ่ามาท่วมได้รวดเร็ว สามารถแตกแขนงตามข้อและที่ข้อจะมีรากงอกออกมาสำหรับดูดหาอาหาร นิยมปลูกในท้องที่ซึ่งมีระดับน้ำสูงตั้งแต่ ๑-๔ เมตร, นาเมือง ก็เรียก. |
พะเลย | น. วิธีปลูกข้าวในนาที่เป็นตม โดยนำข้าวปลูกที่แช่นํ้าไว้หว่านแทนข้าวที่เสียไป, เรียกนาที่ทำด้วยวิธีนั้น ว่า นาพะเลย. |
ฟางลอย | น. นาป่าที่เจ้าของได้เสียค่านาตามเนื้อที่ที่ได้ปลูกข้าว เรียกว่า นาฟางลอย, ผิดกับนาคู่โค ซึ่งต้องเสียค่านาเต็มตามโฉนด. |
ฟาร์ม | น. อาณาบริเวณที่ใช้ทำการเกษตรกรรม มีเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เช่น ทำฟาร์มปลูกข้าวโพดข้าวฟ่าง เลี้ยงไก่เลี้ยงปลาเป็นต้น. |