หน่วยเสียงในภาษาอีสาน

Submitted by theppitak

ตอนที่แล้ว  ได้เสนอแนวทางการสะกดคำภาษาอีสานไปแล้ว ในตอนนี้ เราจะมาดูหน่วยเสียงและการออกเสียงภาษาอีสานกัน เพื่อเป็นแนวทางในการเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างรูปเขียนกับเสียงอ่าน

เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ จะใช้วิธีแยกความแตกต่างจากภาษากรุงเทพฯ

เสียงพยัญชนะ

ภาษาอีสาน มีหน่วยเสียงพยัญชนะที่ต่างจากภาษากรุงเทพฯ ดังนี้

  • ญ ออกเสียงนาสิก ไม่ใช่เหมือน ย ซึ่งตรงนี้ หากพิจารณาตามพยัญชนะวรรคแล้ว ง ญ ณ น ม ทั้งห้าตัวซึ่งอยู่ท้ายวรรค ถือเป็นพยัญชนะนาสิก คือเสียงออกจมูกทั้งหมด ทดสอบด้วยการอุดจมูกขณะออกเสียง จะมีลมดัน แต่เสียงนาสิกของ ญ ได้หายไปในภาษากรุงเทพฯ
  • ไม่มีเสียง ฉ แต่ออกเสียงเป็น ส แทน เช่น ฉีก เขียนและออกเสียงเป็น สีก แต่ในภาษาปัจจุบันซึ่งมีการกลืนกับภาษากรุงเทพฯ บางครั้งบางคนก็ออกเสียง ฉ ตามภาษากรุงเทพฯ
  • ไม่มีเสียง ช แต่จะออกเป็น ซ แทน เช่น ช้าง เขียนและออกเสียงเป็น ซ้าง (แต่อักษรไทน้อยมีตัว ช)
  • ไม่มีเสียง ร แต่ออกเสียงเป็น ฮ แทน เช่น เรือน เขียนและออกเสียงเป็น เฮือน หรือในบางคำ ออกเสียงเป็น ล แทน โดยเฉพาะคำที่ไม่ใช่คำอีสานแท้ (แต่อักษรไทน้อยมีตัว ร)
  • ไม่มีเสียงควบกล้ำ ร ล ว เช่น เกวียน เขียนและออกเสียงเป็น เกียน ยกเว้นบางคำ ที่เสียงควบกล้ำ ว ไปเปลี่ยนเสียงสระ เช่น กวาด เขียนว่า กวาด ออกเสียงว่า กวด, ส๎วาย [= (เวลา)สาย] ออกเสียงว่า สวย
  • ในบางท้องถิ่น อาจมีการกล้ำเสียงพยัญชนะบางตัวเมื่อผสมกับเสียงสระ อิ อี เอ หรือ แอ กล่าวคือ เสียง ข แทนที่จะออกจากคอ ก็จะเลื่อนมาประมาณเพดานปาก ทำให้เป็นเสียงก้ำกึ่งระหวาง ข กับ ฉ, และเสียง ค ก็จะก้ำกึ่งระหว่าง ค กับ ช, เสียง ก จะก้ำกึ่งระหว่าง ก กับ จ เช่นกัน หรือบางถิ่นอาจออกเสียงเป็น ฉ, ช, จ เต็ม ๆ ไปเลย ตัวอย่างเช่น ในคำว่า ขิว, ขี้, เขียน, คีบ, แก่น

เสียงสระ

เสียงสระในภาษาอีสานแทบไม่ต่างจากภาษากรุงเทพฯ ยกเว้นในบางท้องถิ่นจะออกเสียงสระบางสระต่างออกไปเล็กน้อย เช่น ในแถบขอนแก่นจะออกเสียงสระเอือเป็นเอีย เช่น คำว่า “เมือ” ที่แปลว่า “กลับ(บ้าน)” นั้น คนขอนแก่นจะออกเสียงว่า “เมียบ้าน” ในขณะที่คนอีสานถิ่นอื่นยังคงออกเป็น “เมือบ้าน” คำว่า “เมือง” คนขอนแก่นก็จะออกเสียงเป็น “เมียง” เป็นต้น

อีกเสียงที่ต่างคือสระอาเมื่อตามหลัง ว ควบกล้ำ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสระอัว ดังที่กล่าวไปแล้วในเรื่องเสียงพยัญชนะ

แต่โดยทั่วไปแล้ว ภาษาอีสานจะออกเสียงสระเหมือนภาษากรุงเทพฯ ทุกประการ

สียงวรรณยุกต์

เสียงวรรณยุกต์เป็นสิ่งที่บ่งบอกความแตกต่างของสำเนียงได้มากที่สุด ภาษาอีสานจะผันวรรณยุกต์ต่างจากภาษากรุงเทพฯ โดยมีหลักสังเกตบางอย่างที่ถ้าใช้จนคล่องแล้ว คนกรุงเทพฯ ก็จะสามารถพูดภาษาอีสานได้กลมกลืนสัก 80% ทีเดียว จะเหลือความแตกต่างให้สังเกตได้บ้างก็ในเรื่องการใช้คำศัพท์เท่านั้น

สำเนียงอีสานถิ่นต่าง ๆ จะออกเสียงวรรณยุกต์ต่างกันไปบ้าง ซึ่งทำให้สังเกตพื้นเพของผู้พูดได้ แต่ก็จะไม่ถึงกับแตกต่างกันมาก ยังคงสามารถใช้หลักการผันเดียวกันได้ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น เช่น สำเนียงภูเวียงจะออกเสียงโทของสำเนียงขอนแก่นเป็นเสียงตรีแบบกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้สำเนียงภูเวียงฟังดูอ่อนหวานกว่า

ในที่นี้จะกล่าวถึงสำเนียงขอนแก่น ซึ่งเป็นสำเนียงที่ค่อนข้างแพร่หลาย และเป็นสำเนียงที่ผมคุ้นเคยพอที่จะเขียนถึงได้

เสียงวรรณยุกต์ของสำเนียงขอนแก่น มี 5 เสียง

  • เสียงเอก เหมือนเสียงเอกในภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า กา จีน แดง บิน ดอก แตก ปาก หมอก ไหม้ เข้า
  • เสียงโทต่ำ คล้ายกับเสียงโทของภาษากรุงเทพฯ แต่เสียงต่ำกว่า (ต้นพยางค์เสียงสูงกว่าสามัญของกรุงเทพฯ เพียงเล็กน้อย แล้วลงต่ำที่ท้ายพยางค์) เช่น ในคำว่า แจ้ง ต้น โลก ค้า น้า ม้า
  • เสียงโท ตรงกับเสียงโทของภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า คา งู มา
  • เสียงสามัญสูง ออกเสียงระดับเดียวตลอดพยางค์เหมือนเวลาออกเสียงสามัญ แต่เสียงสูงเหมือนหางเสียงตรีของภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า ไก่ เต่า ข่า ใหม่ พ่อ แม่
  • เสียงจัตวา ตรงกับเสียงจัตวาในภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า ขา ผี เสา หัว กบ เห็ด
แผนภูมิระดับเสียงของวรรณยุกต์อีสาน

วิธีเขียนบรรยายเสียงอ่าน จะมีปัญหาอยู่สองเสียง คือเสียงโทต่ำและสามัญสูง ส่วนเสียงอื่นนั้น ตรงกับเสียงภาษากรุงเทพฯ อยู่แล้ว จึงขอเสนอรูปเขียนเสียงอ่านของเสียงวรรณยุกต์ทั้งสองดังนี้:

  • เสียงโทต่ำ โครงสร้างระดับเสียงลงต่ำที่ท้ายพยางค์เหมือนเสียงโทของกรุงเทพฯ แต่ตั้งต้นด้วยเสียงที่ต่ำกว่า คือประมาณเสียงสามัญ ทำให้ทั้งพยางค์มีระดับเสียงต่ำกว่าเสียงโท จึงอาจเขียนเป็นเสียงโทของภาษากรุงเทพฯ แล้วตามด้วยขีดล่าง (_) เพื่อบ่งบอกการลดระดับเสียง เช่น
    • แจ้ง -> แจ้ง_
    • ต้น -> ต้น_
    • โลก -> โลก_
    • ค้า -> ค่า_
    • น้า -> น่า_
    • ม้า -> ม่า_
  • เสียงสามัญสูง โครงสร้างระดับเสียงเป็นระดับเดียวเหมือนสามัญ แต่ยกสูงประมาณท้ายเสียงตรี ซึ่งถ้าออกเป็นเสียงสามัญแบบกรุงเทพฯ ก็พอกล้อมแกล้มเหมือนกัน รูปเสียงจึงน่าจะเน้นที่ความเป็นสามัญมากกว่าความเป็นตรี จึงอาจจะเขียนเป็นรูปสามัญแล้วตามด้วยหมวก (^) เพื่อบ่งบอกการยกระดับเสียง เช่น
    • ไก่ -> ไก^
    • เต่า -> เตา^
    • ข่า -> คา^
    • ใหม่ -> ไม^
    • พ่อ -> พอ^
    • แม่ -> แม^

การผันวรรณยุกต์ มีข้อสังเกตดังนี้

รูปวรรณยุกต์เอกโทตรีจัตวา
อักษรกลางคำเป็นเอก (กา)สามัญสูง (ไก่)โทต่ำ (แจ้ง)สามัญสูง (ป๊า)จัตวา (โก๋)
อักษรกลางคำตายสระเสียงยาวเอก (ดอก)โทต่ำ (โจ้ก)สามัญสูง (โจ๊ก)จัตวา (-)
อักษรกลางคำตายสระเสียงสั้นจัตวา (กัด)โทต่ำ (จั้ก)สามัญสูง (กั๊ก)จัตวา (-)
อักษรสูงคำเป็นจัตวา (ขา)สามัญสูง (ข่า)เอก (เข้า)
อักษรสูงคำตายสระเสียงยาวเอก (เขียด)โทต่ำ (-)
อักษรสูงคำตายสระเสียงสั้นจัตวา (ขัด)โทต่ำ (-)
อักษรต่ำคำเป็นโท (คา)สามัญสูง (ค่า)โทต่ำ (ค้า)
อักษรต่ำคำตายสระเสียงยาวโทต่ำ (คอก)สามัญสูง (โค้ก)
อักษรต่ำคำตายสระเสียงสั้นสามัญสูง (คึด)โทต่ำ (ค่ะ)

ลองอ่านภาษาไทยโดยผันวรรณยุกต์ตามนี้ ก็เกือบจะเป็นภาษาขอนแก่นแล้ว และตารางนี้ น่าจะใช้เป็นแนวทางในการหารูปเขียนจากเสียงอ่านได้ด้วย ด้วยการโยงกลับจากเสียงเป็นรูป

ที่เว็บเสียงไทย มี รายละเอียดเรื่องหน่วยเสียงภาษาอีสาน เพิ่มเติม พร้อม ตัวอย่างเสียงของถิ่นต่าง ๆ

ดัดแปลงจาก: บทความของผมที่ lang4fun

Leave a Reply