ประเด็นการสะกดคำภาษาอีสาน

Submitted by theppitak

     ในโอกาสที่พจนานุกรม Longdo จะเพิ่มหมวดภาษาท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงภาษาอีสานด้วย ก็ขอทำความเข้าใจสักนิด เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเขียนภาษาอีสาน

การสะกดภาษาอีสานโดยมากเท่าที่พบในโอกาสต่าง ๆ จะสะกดคำที่เป็นคำไทยตามแบบไทย แต่สะกดคำที่เป็นคำลาวตามเสียงอ่าน เนื่องจากไม่เคยมีแหล่งอ้างอิงตัวสะกดเป็นแบบแผนให้เห็น ซึ่งก็จะทำให้เกิดความลักลั่น ที่แต่ละคำใช้อักขรวิธีต่างกัน รวมทั้งผันแปรไปมาตามสำเนียงหรือวิธีถ่ายเสียงของคนเขียน

ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “หม้ำ” ที่หมายถึงอาหารที่คล้ายไส้กรอก แต่ทำจากตับวัวหรือควาย ใส่ข้าวและเครื่องเทศ สีจะเป็นสีดำ คำนี้ ภาษาอีสานจะออกเสียงเป็นเสียงเอกว่า “หม่ำ” เหมือนกับที่ออกเสียงคำว่า “หม้อ” ว่า “หม่อ” แต่จะเห็นการสะกดโดยทั่วไปเป็น “หม่ำ” ตามเสียงอ่าน ทีนี้ เมื่อเขียนเป็นประโยคว่า “เอาหม่ำไปใส่หม้อ” ถ้าจะอ่านทั้งประโยคเป็นภาษาอีสานตามตัวสะกดก็จะอ่านได้เป็น “เอ่ามำไป่ไซหม่อ” ซึ่งทำให้เสียงของ “หม้ำ” กลายเป็น “มำ” (สามัญสูง) แทนที่จะเป็น “หม่ำ” ตามเสียงที่ถูกต้อง และถ้าจะอ่านให้ถูกต้อง ผู้อ่านจะต้องแยกแยะเอาเองจากบริบท ว่าคำไหนเป็นคำไทย คำไหนเป็นคำลาว ซึ่งจะเพิ่มความซับซ้อนในการอ่านอย่างมาก และคำโดยส่วนใหญ่จะคลุมเครือ เพราะภาษาไทยและลาวมีคำที่ใช้เหมือนกันมากมาย เช่นคำว่า “หม้อ” ในประโยคตัวอย่าง ก็มีความเป็นลาวพอ ๆ กับที่เป็นคำไทย การไปแยกแยะชัดเจนแล้วอ่านแบบคำไทยจึงไม่สมเหตุสมผล

แต่ถ้าเขียนเป็น “เอาหม้ำไปใส่หม้อ” ผู้อ่านสามารถอ่านออกเสียงด้วยหลักการเดียวกันทุกคำได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องแยกแยะ และนี่น่าจะเป็นการสะกดรูปคำที่ถูกต้อง เราอ่านคำว่า “หม้อ” ด้วยหลักการไหน ก็น่าจะอ่านคำว่า “หม้ำ” ด้วยหลักการเดียวกัน

เมื่อตรวจสอบกับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ปรากฏว่าท่านเก็บคำว่า “หม้ำ” ในรูปไม้โท

ตัวอย่างการผันวรรณยุกต์ดังกล่าว คงพอทำให้เห็นภาพ ว่าผมต้องการเสนอการสะกดคำภาษาอีสานแบบไหน แต่ถ้าจะให้ครอบคลุมประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากการผันวรรณยุกต์แล้ว ผมขอเสนอให้ใช้ตัวสะกดภาษาลาวปัจจุบันเป็นแนวทาง ด้วยเหตุผลของรากแห่งวัฒนธรรมอีสานตามประวัติศาสตร์

ในยุคประวัติศาสตร์นั้น พื้นที่ภาคอีสานของไทยเคยถูกครอบครองโดยชนชาติขอมในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ แล้วก็เปลี่ยนมือมาเป็นอาณาจักรล้านช้างของลาวในเวลาต่อมา ก่อนที่จะมาขึ้นตรงต่อสยามเมื่อกรุงศรีอยุธยาแผ่อำนาจขึ้นมา แต่ตลอดสมัยอยุธยานั้น แม้ในทางการปกครอง หัวเมืองต่าง ๆ ในอีสานจะขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ก็อยู่ในฐานะคล้ายเมืองประเทศราช ในทำนองเดียวกับเชียงใหม่และนครศรีธรรมราช โดยประชากรส่วนใหญ่มาจากลาวล้านช้าง และยังมีการอพยพเข้ามาเพิ่มเติมอีกหลายระลอกในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งจากภัยสงครามระหว่างลาวฝ่ายต่าง ๆ ด้วยกันเอง และจากการกวาดต้อนของราชสำนักไทย ดังนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ชาวอีสาน โดยเฉพาะอีสานตอนบน ก็สืบเชื้อสายและวัฒนธรรมมาจากลาวล้านช้างนั่นเอง วัฒนธรรมต่าง ๆ จึงกลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นภาษา ดนตรี การละเล่น ขนบธรรมเนียมประเพณี และคติความเชื่อต่าง ๆ และถ้าจะเข้าใจเรื่องภาษาพูดและภาษาเขียนของอีสาน ก็จำเป็นต้องศึกษาเทียบเคียงกับภาษาลาวเป็นหลัก

ถ้าพูดถึงตัวเขียนของภาษาอีสานดั้งเดิม จะใช้อักษรสองชนิด คือ อักษรไทน้อย ซึ่งมีรากเดียวกับอักษรลาวในปัจจุบัน และ อักษรธรรม ซึ่งมีรากร่วมกับอักษรธรรมล้านนา โดยอักษรธรรมมักจะใช้ในคัมภีร์ทางศาสนา แต่ปัจจุบันหาผู้ที่รู้อักษรทั้งสองแบบนี้ได้ยากแล้ว จะหาหลักฐานได้ก็แต่จากจารึกโบราณเท่านั้น ดังนั้น แหล่งหนึ่งที่จะใช้สืบเสาะอ้างอิงภาษาเขียนของอีสานได้ ก็จากภาษาลาวปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ภาษาลาวปัจจุบันก็ได้ผ่านการปฏิวัติครั้งใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทำให้มีการลดจำนวนอักษรลง พร้อมตัดความซับซ้อนต่าง ๆ ลงจนเหลือเพียงการเขียนตามเสียงอ่าน การอ้างอิงจึงทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังถือเป็นแหล่งที่ช่วยได้มากที่สุดในขณะนี้

หากจะให้ได้ภาษาเขียนที่แท้จริงของอีสาน ความหวังหนึ่งอาจจะอยู่ที่การศึกษาและถ่ายทอดอักษรไทน้อยและอักษรธรรมอีสานโดยตรง โดยมี โรงเรียนสว่างวีระวงศ์ เป็นตัวอย่าง

อย่างไรก็ดี การเขียนที่สะดวกที่สุดสำหรับชาวอีสานคงเป็นการใช้อักษรไทย โดยผมเองมีความเห็นว่า น่าจะต้องอ้างอิงตัวเขียนภาษาลาวเป็นหลัก มากกว่าการถอดเสียงอ่านผ่านสำเนียงกรุงเทพฯ (ขอใช้คำว่า “สำเนียงกรุงเทพฯ” เนื่องจากเมื่อพูดถึงภาษาถิ่นแล้ว จำเป็นต้องเจาะจงถิ่น เพราะแม้ในภาคกลางเอง ก็มีสำเนียงท้องถิ่นที่แตกต่างจากกรุงเทพฯ มากมาย เช่น สำเนียงสุพรรณบุรี สำเนียงเพชรบุรี สำเนียงอยุธยา) อย่างที่พบเห็นกันทั่วไป โดยประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการผันวรรณยุกต์ดังที่กล่าวไปแล้ว นอกจากเรื่องความลักลั่นของการอ่านแล้ว ยังมีปัญหาความลักลั่นของการเขียนด้วย เพราะการใส่เสียงวรรณยุกต์ลงในตัวเขียนจะขึ้นอยู่กับสำเนียงท้องถิ่นของผู้เขียน เนื่องจากภาษาอีสานมีหลายสำเนียง สำเนียงขอนแก่นก็ต่างจากสำเนียงอุบลฯ เลย หรือภูเวียง เป็นต้น

นอกจากเสียงวรรณยุกต์แล้ว เสียงสระก็มีความแตกต่างในแต่ละถิ่นเช่นกัน เช่น สระเอือมักออกเสียงเป็นสระเอียในแถบขอนแก่น ซึ่งต่างจากสำเนียงอีสานถิ่นอื่น เป็นต้น ผู้บรรจุคำลงพจนานุกรมจึงน่าจะต้องระวังที่จะไม่อิงสำเนียงเสียงพูด แต่ต้องเน้นที่รูปสะกดของคำเป็นหลัก และผู้อ่านก็ต้องเข้าใจในหลักการบรรจุคำนี้ด้วย

ตอนนี้ถือเป็นการเกริ่นนำก่อน ตอนหน้าจะลงรายละเอียดเรื่องหน่วยเสียงในภาษาอีสาน และหลักการที่จะช่วยให้คุณอ่านภาษาไทยเป็นสำเนียงอีสานได้ครับ

Leave a Reply